พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่เรานิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำอ้อยสดในประเทศไทยเรานั้นมีด้วยกัน 2 พันธุ์หลักๆ คือพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และพันธุ์ สิงคโปร์ และเมื่อปี 2562 ได้มีการเปิดตัวพันธุ์ใหม่ล่าสุดโดยกรมวิชาการเกษตรคือพันธุ์ศรีสำโรง1 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากจะพิจารณาเลือกพันธุ์มาปลูกต้องคำนึงถึงความหวาน สี และความหอมของกลิ่น โดยความหวานที่เหมาะสมคือ 13-17 องศาบริกซ์
อ้อยคั้นน้ำ พันธุ์สิงคโปร์ หรือที่เรียกกันว่าอ้อยสำลี เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรไทยเราใช้ปลูกกันมายาวนานมากว่า 30-40 ปี ให้ผลผลิตอ้อยที่มีผิวเนื้ออ่อน ชานอ้อยนิ่ม เมื่อหีบออกมาแล้วจะได้น้ำอ้อยสดสีเหลืองปนเขียว กลิ่นหอม และมีความหวาน 13-15 องศาบริกซ์ ต้นอ้อยที่ได้จะมีลำสีเหลืองแก่ ปล้องสั้นระหว่างปล้องจะมีลำนูนป่องคล้ายข้าวต้มมัด มีใบสีเขียว แตกกอประมาณกอละ 3-4 ลำ ไม่สามารถไว้ตอได้ ไม่สามารถต้านทานโรคลำต้นเน่าแดง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงระยะเวลา 8 เดือน สามารถปลูกได้ดีในบริเวณที่ลุ่ม
ส่วนพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาขึ้น เพื่อแก้จุดด้อยที่มีในพันธุ์สิงคโปร์ โดยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นอ้อยคั้นน้ำที่ให้ความหวาน สี และกลิ่นได้ดีกว่าพันธุ์สิงคโปร์ และยังสามารถไว้ตอได้ถึง 4 ครั้ง แตกกอได้มากถึงกอละ 5-6 ลำและยังมีการปรับตัวสภาพแวดล้อมได้ดีปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน และยังต้านทานต่อโรคลำต้นเน่าแดง โดยมีอายุการเก็บเกี่ยวเท่ากันกับพันธุ์สิงคโปร์คือ 8 เดือน แต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า โดยให้ผลผลิตถึงไร่ละ 4,600-5,200 ลิตร เทียบกับพันธุ์สิงคโปร์ที่ให้ผลผลิตไร่ละ 2,100-2,800 ลิตร และยังให้ความหวานได้ถึง 15-17 องศาบริกซ์ ทำให้เพื่อนเกษตรกรหลายพื้นที่หันมาปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์นี้มากยิ่งขึ้น เพราะได้ผลผลิตสูงและยังสามารถลดต้นทุนได้ เพราะสามารถไว้กอได้
ส่วนพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ล่าสุดคือพันธุ์ศรีสำโรง 1 นั้น เป็นพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมกับสภาพการปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยมีผลผลิตมากกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี50 โดยให้ผลผลิตถึงไร่ละ 5,647ลิตรและมีความหวานถึง 17.1 องศาบริกซ์ ส่วนของสีและความหอมนั้นเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและตลาด ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเริ่มหันมาปลูกอ้อยพันธุ์นี้มากขึ้น
สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจจะปลูกอ้อยคั้นน้ำนั้นจะต้องศึกษารายละเอียดของสภาพดินที่เราจะใช้ปลูกว่าควรจะใช้พันธุ์ไหน ส่วนวิธีการปลูกอ้อยแต่ละพันธุ์นั้นจะต้องศึกษาเรื่องอย่างละเอียดจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและหีบอ้อย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ เพราะในทุกขั้นตอนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย