สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดกระด้าง หรือเห็ดลม, เห็ดบด เอ๊ะมันยังไง?

เห็ดกระด้าง เป็นเห็ดที่มีชื่อเรียกหลายชื่อมากทั้งเห็ดลมป่า และเห็ดบดดำ จนบางคนอาจจะสับสนว่าเป็นคนละชนิดกัน แต่ที่จริงแล้วคือเห็ดชนิดเดียวกันนั่นแหละครับ แต่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดพื้นบ้านที่มักจะพบได้ตามบริเวณซากขอนไม้อย่าง เต็ง รัง เหียง แดง ตะแบก ซึ่งเป็นไม้ในกลุ่มเต็งรัง พบได้ในในช่วงต้นฤดูฝนไปจนถึงช่วงรอยต่อของฤดูหนาว ในบริเวณป่าทั่วประเทศที่กลางวันมีอุณหภูมิร้อนแต่กลางคืนมีอากาศเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ที่คนส่วนใหญ่จะนำมาประกอบอาหาร เช่น ซุปเห็ดกระด้างในภาคอีสานและแกงแคใส่เห็ดลมและแกงเห็ดลมในภาคเหนือ จัดเป็นเห็ดที่มีรสชาติดีมาก มีความนุ่มฉ่ำน้ำแกง เนื้อเห็ดเหนียวกรุบกรับ แต่ก่อนนั้นคนที่ชอบรับประทานเห็ดชนิดนี้จะต้องรอคอยช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม ที่จะมีพ่อค้าแม่ขายไปเก็บจากป่ามาใส่กระทงใบตองขายตามริมถนน แต่ในปัจจุบันได้มีการเพาะเลี้ยง จึงทำให้สามารถหาซื้อได้ทุกฤดู แต่อาจจะมีปริมาณไม่มากนัก

เห็ดกระด้าง หรือเห็ดลม, เห็ดบด เป็นเห็ดขอน จะมีหมวกเห็ดลักษณะทรงกรวยลึก สีครีมขุ่นและสีเทาอมน้ำตาล มีเส้นผ่านศูนย์กลางหมวกเห็ดประมาณ 5 เซนติเมตร บริเวณขอบหมวกเห็ดจะบานและเว้าลง มีขนสีน้ำตาลอ่อนกระจายตัวบนหมวกเห็ด ขอบดอกเห็ดบางเว้าลงเช่นกัน ครีบบางและแคบสีเดียวกับหมวกเห็ด หากสัมผัสจะรู้สึกสากมือเพราะขอบครีบจะมีลักษณะเป็นจักซี่เล็กๆ มีกลิ่นหอม แต่เดิมนั้นหมอยาพื้นบ้านจะนำเห็ดชนิดนี้มาใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ เพื่อบำรุงผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นไข้ให้มีพละกำลังดีขึ้น โดยนำไปต้มในน้ำสะอาดและรับประทานทั้งเนื้อเห็ดและน้ำที่ได้จากการต้ม

สูตรอาหารสำหรับการเพาะเห็ดกระด้าง (หรือเห็ดลม,เห็ดบด) อ้างอิงจากเอกสารเผยแพร่การเพาะเห็ดเศรษฐกิจพืชเสริมรายได้เกษตรกร ของกรมวิชาการเกษตร ที่ได้ระบุสูตรอาหารเพาะที่ประกอบไปด้วย ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม, รำละเอียด 5 กิโลกรัม,น้ำตาลทราย  3 กิโลกรัม, ดีเกลือ (MgSO4) 0.2 กิโลกรัม และปูนขาว 1 กิโลกรัม นำมาผสมกัน พรมน้ำสะอาดเพื่อเพิ่มความชื้นพอหมาดประมาณร้อยละ 60-70 สังเกตด้วยการการกำวัสดุเพาะแล้วไม่คลายตัว จับตัวกันได้ดี แล้วให้นำใส่ถุงพลาสติกทนร้อนถุงละ 1 กิโลกรัม กดให้แน่นแล้วไล่อากาศจากถุงให้หมด ใส่คอพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทแล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อมากกว่า 2 ชั่วโมง พักให้เย็นลงก่อนที่จะนำไปใส่เชื้อ บ่มเส้นใย เปิดดอกและดูแลต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook