โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นใหม่ในประชากรมนุษย์และสัตว์ซึ่งไม่เคยมีรายงานมาก่อน หรือเคยรายงานแต่ปัจจุบันกลับเป็นซ้ำ โรคเหล่านี้อาจเกิดจากเชื้อโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน หรืออาจจะสามารถแพร่กระจายจากคนสู่สัตว์ได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานที่สำคัญเกี่ยวกับไวรัสตัวใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสอู่ฮั่น ((Novel coronavirus 2019; Wuhan Coronavirus : SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่รู้จักในชื่อ COVID-19 โดยมีรายงานการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนและหลังจากนั้นก็แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว ช่วงเริ่มต้นของการระบาดของ COVID-19 มีรายงานว่าผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ป่าที่ตลาดค้าอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และมีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสพบว่าไวรัสอาจมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว และอาจแพร่เชื้อไปยังสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น ตัวนิ่ม และกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อสู่คนและแพร่ระบาดเชื้อจากคนสู่คนได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าไวรัส SARS-CoV-2 สามารถแพร่เชื้อไปยังสัตว์เลี้ยงและสัตว์อื่นๆ รวมถึงสุนัข แมว เสือ และตัวมิงค์ โดยสัตว์ไม่แสดงอาการใดๆ จนถึงเกิดอาการในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังมีรายงานการตรวจพบไวรัสในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ปลา ไก่ และอาหารทะเลแช่แข็ง
สวก.จึงให้การสนับสนุนทุนแก่นักวิจัยในโครงการ “การสำรวจโรคติดเชื้อโคโรนาและโควิด 19 ในปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์” มี ศ. น.สพ. ดร.อลงกร อมรศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยเป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการสำรวจไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาและโควิด-19 ในปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งเป็นโรคไวรัสที่สำคัญและอาจจะนำไปสู่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โครงการนี้ตอบโจทย์ภายใต้กรอบการวิจัย “ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในประเทศไทย โปรแกรม P7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร”
เป้าหมายของโครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บตัวอย่างจากฟาร์มปศุสัตว์ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อตรวจพิสูจน์หาเชื้อไวรัสโคโรนา (alpha and beta coronaviruses) และ โควิด 19 (SARs-CoV-2) ในตัวอย่างเหล่านี้โดยเน้นที่การตรวจพิสูจน์หาเชื้อไวรัสในสัตว์ ที่มีความสำคัญและเกิดการระบาดของโรคในช่วงการศึกษาวิจัย ตลอดจนสร้างฐานข้อมูลข้อมูลรหัสพันธุกรรมและความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อของไวรัสโคโรนาที่พบและประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว ในการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสัตว์ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และมนุษย์ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป