สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การวิจัยและพัฒนาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและยกระดับการประมงปูม้าสู่มาตรฐานสากล (Fishery improvement program: FIP) ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปีที่ 2

สถานการณ์ทรัพยากรประมงหลายชนิดลดลงโดยเฉพาะทรัพยากรปูม้า ส่งผลให้ชาวประมงที่พึ่งพาทรัพยากรชนิดนี้มีรายได้น้อยลงและทำให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเข้าถึงอาหารทะเลได้ยากขึ้นเนื่องจากปัจจัยด้านปริมาณและราคา จึงมีมาตรการและมาตรฐานการประมงจากนานาประเทศกำหนดให้ผู้ส่งออกยกระดับมาตรฐานการประมง หลายประเทศจึงให้ความสนใจที่จะใช้การวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรประมงและยกระดับการพัฒนาการประมงตามมาตรฐานสากลที่ต่างประเทศยอมรับ ที่เรียกว่า FISHERY IMPROVEMENT PROJECT หรือ FIP ทั้งนี้  ใน พ.ศ. 2559-2560 ประเทศไทยได้รับการประเมินพัฒนาการประมงภายใต้ FIP ระดับ C ทำให้ต่างประเทศสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยปรับปรุงมาตรฐานการประมง

สวก. จึงได้สนับสนุนโครงการวิจัย “การวิจัยและพัฒนาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและยกระดับการประมงปูม้าสู่มาตรฐานสากล  (Fishery improvement program: FIP) ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี” ซึ่งมี ผศ. ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยดำเนินงานโครงการนำร่องในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประชากรปูม้าของประเทศไทย  รวมทั้งระดมความคิดเห็นจากผู้ประเมินโครงการพัฒนาทางการประมง Fishery improvement program ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติ (MRAG) และแผนกลยุทธ์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน FIP

โครงการวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาครอบคลุม 3 ประเด็นหลักตามแนวทางของ Fishery Improvement Program (FIP) ได้แก่ สภาวะทรัพยากรปูม้า (Stock and fishery) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) และการจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ (Fishery management) บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์ข้อมูลวิชาการทางสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเพื่อต่อยอดในการวางแผนการจัดการทรัพยากรปูม้าในบริบทของพื้นที่ อ่าวบ้านดอน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องโครงการ FIP ภายใต้แผนการจัดการทรัพยากรปูม้าเพื่อความยั่งยืน ประกอบไปด้วย 5 โครงการย่อย ดังนี้

ด้านสภาวะทรัพยากรปูม้าและการจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. โครงการการประเมินสภาวะทรัพยากรประมงปูม้า เพื่อเสนอแนวทางบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล: กรณีศึกษาอ่าวบ้านดอน จังหวัด สุราษฏร์ธานี (ดำเนินการแล้วเสร็จในปีที่ 1)
  2. การตายโดยการประมงผี การเคลื่อนที่ และอัตราการรอดของปูม้าในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี (โครงการต่อเนื่องปีที่ 2)
  3. การศึกษาภาวะเศรษฐกิจสังคมของชุมชนประมงปูม้าและการวิเคราะห์โซ่คุณค่าของปูม้า ในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี (ดำเนินการแล้วเสร็จในปีที่ 1)

ด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง

  1. การคาดการณ์การแพร่กระจายและแหล่งอนุบาลตัวอ่อนปูม้า บริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ ธานี ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (โครงการต่อเนื่องปีที่ 2)
  2. ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อทรัพยากรปูม้า บริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี (โครงการต่อเนื่องปีที่ 2)

ผลสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ ได้ขับเคลื่อนให้การประมงของประเทศไทยเดินหน้า ยกระดับการพัฒนาทางการ ประมงของประเทศไทยกรณีศึกษาปูม้า เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์แก่การส่งออกปูม้าสู่ตลาดสากล โดยใน 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผลการประเมิน 3 ปีหลัง (พ.ศ. 2561-2563) การพัฒนาการประมงของประเทศไทยยกระดับจากระดับ C เป็นระดับ A ซึ่งหมายถึงมีการพัฒนาทางการประมงอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนประมง ในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook