ภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติประเภทหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอในบางฤดูกาลหรือฝนตกเป็นระยะซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ การกระจายของฝนที่ไม่สม่ำเสมอในภูมิภาคต่างๆ และการจัดการน้ำที่ไม่ดีสามารถนำไปสู่สภาวะภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำได้ ผลกระทบของภัยแล้งอาจรุนแรงและก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตของผู้คน ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างความเสียหายอย่างมากโดยเฉพาะด้านการเกษตรกรรม
แม้ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำ แต่หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง และน้ำท่วม ลุ่มน้ำชีเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งครอบคลุม 14 จังหวัดและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ถึง 63% ของพื้นที่ทั้งหมดเพื่อการเกษตร ปัจจุบันลุ่มน้ำชีกำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักเนื่องจากสาเหตุภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานและเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์มีระดับน้ำอยู่ในระดับวิกฤต ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร การวิเคราะห์และการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนและความแห้งแล้งเชิงพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถนำไปสู่การป้องกันหรือเตือนภัยล่วงหน้าและก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายในการบริหารจัดการน้ำได้ในอนาคต
สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สำหรับการพยากรณ์ภัยแล้งสุดขีดเชิงพื้นที่ในลุ่มน้ำชีเพื่อการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตรแม่นยำ” โดยคณะผู้วิจัยได้นำเอาดัชนี SPI หรือ ดัชนีปริมาณน้ำฝนมาตรฐาน ละดัชนีความแห้งแล้งทางด้านการเกษตร (GMI) มาใช้ในการวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของภัยแล้งทางอุตุนิยมวิทยาประยุกต์เข้ากับทฤษฎีค่าสุดขีด เพื่อพยากรณ์ระดับการเกิดซ้ำและโอกาสในการเกิดภัยแล้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชันระบบการพยากรณ์ภัยแล้งสุดขีดเชิงพื้นที่ในลุ่มน้ำชีสำหรับสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการจัดการภัยแล้ง นำไปสู่การรับมือด้วยการป้องกันหรือเตือนภัยล่วงหน้า รวมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรเพื่อวางแผนการเพาะปลูกและการทำเกษตรกรรมอย่างเหมาะสมตามปริมาณน้ำ
ผลสำเร็จของงานวิจัยโครงการนี้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นทั้งเพื่อด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกันเมื่อเกษตรกรได้รับทราบข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้ จะสามารถวางแผนการกักเก็บน้ำ การวางแผนการเพาะปลูกพืชผลที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำแต่ละช่วงเวลา ทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรอย่างเหมาะสมได้ในทุกฤดูกาล ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นและทำให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนสืบต่อไป