การบริหารจัดการน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตภาคเกษตรตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ (O2.7/KR2.7.4) กระบวนการผลิตทางการเกษตรพึ่งพาทรัพยากรน้ำเป็นอย่างมาก ทำให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ในทุกภาคส่วน เพื่อจัดการกับปัญหานี้ หน่วยงานต่าง ๆ จึงได้จัดตั้งโครงการขนาดใหญ่ที่มุ่งติดตามและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานของภาคเกษตร
การบริหารการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายและกระบวนการทำงานที่ยาวนาน ดังนั้นการออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำจึงต้องมุ่งสนับสนุนให้ทุกองคาพยพทำงานเป็นองค์รวมโดยมีภาครัฐเป็นผู้ประสานงานหลัก กระบวนการจัดการน้ำมีลักษณะเป็นสายพานวงกลมที่เริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลความต้องการและปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ต่างๆ ของภูมิภาค จากนั้นข้อมูลจะถูกวิเคราะห์โดยหน่วยงานส่วนกลางเพื่อกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ไหลลงสู่ระดับล่าง ในการเพิ่มอัตราผลผลิตทางการเกษตร ภาครัฐต้องการระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพซึ่งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ในขณะที่ลดเวลาดำเนินการในแต่ละรอบเพื่อตอบสนองต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศโดยเร็วที่สุด
สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่โครงการ “แพลตฟอร์มการจัดการน้ำชุมชนเพื่อการเกษตรด้วยโมบายคลาวด์คอมพิวติง” เพื่อพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อการจัดการน้ำที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและลดปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือการทำงานสนับสนุนระบบบริหารจัดการน้ำ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดเวลาในการรวบรวมข้อมูลความต้องการใช้น้ำจากเกษตรกรและข้อมูลปริมาณน้ำและลดเวลาในการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการ เนื่องจากระบบนี้สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ความสมดุลของน้ำในแต่ละพื้นที่ และแสดงผลข้อมูลการจัดการน้ำให้เกษตรกรเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ นำไปสู่การวางแผนการผลิตและการจัดการแปลงเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม
การพัฒนาเครื่องมือ Easy Agri แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก การพัฒนากระบวนการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยี Mobile Cloud Computing ที่รองรับปริมาณการใช้งานของเกษตรกรที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคต และลดข้อจำกัดในการใช้งานระบบ ตอบสนองผู้ใช้งานภาคสนาม เข้าถึงข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต และเชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น และได้สร้าง Mobile Application เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลและประมวลผลผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ส่วนที่สอง คือ การพัฒนาแบบจำลองการประมาณค่าพื้นที่รองรับน้ำ โดยใช้องค์ความรู้ที่สร้างขึ้น ภายในประเทศ ทดแทนการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปของต่างประเทศ
ผลสำเร็จของงานวิจัยโครงการนี้ ก่อให้เกิดเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มการจัดการน้ำชุมชนเพื่อการเกษตรด้วยโมบายคลาวด์คอมพิวติ้ง ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากระบบจะทำการประมวลผลอัตโนมัติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้นในการจัดการน้ำและจัดหาข้อมูลผลลัพธ์ เช่น ข้อมูลขนาดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม, ข้อมูลขนาดความจุสระน้ำในไร่นาที่เหมาะสม เป็นต้น สามารถช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูก และการบริหารจัดการน้ำให้แก่เกษตรกร นําไปสู่การจัดสรรน้ำที่เพียงพอสำหรับภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น