ข้าวเป็นอาหารหลักคนไทยและเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม การบริโภคคาร์โบไฮเดรตในปริมาณและชนิดที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและโรคอ้วนลงพุง(metabolic syndrome) ข้าวบางชนิด เช่น ข้าวปิ่นเกษตร+4 มีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับต่ำ ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวสินเหล็กมีดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าข้าวชนิดอื่น
การวิจัยในระยะหลังแสดงให้เห็นว่าแต่ละคนอาจมีระดับน้ำตาลที่แตกต่างกันหลังจากรับประทานอาหารชนิดเดียวกัน การใช้หลักการโภชนาการเฉพาะบุคคล (precision nutrition) มาใช้ (BMJ. 2018;361:bmj k2173.) เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคหรือบุคลากรทางการแพทย์ สามารถใช้ทำนายการเปลี่ยนแปลงน้ำตาลหลังมื้ออาหารล่วงหน้าและตัดสินใจเลือกอาหารที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวไทยและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการได้อย่างมาก
เชื้อจุลชีพประจำถิ่นในลำไส้ (gut microbiota) หมายถึงจุลินทรีย์ที่พบเป็นปกติในลำไส้ของมนุษย์ มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร ผ่านอัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่แตกต่างกัน และส่งผลกระทบต่อภาวะดื้ออินซูลินในแต่ละบุคคล จึงสามารถใช้ทำนายการตอบสนองของระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารต่อการรับประทานข้าวของแต่ละบุคคลได้ และสามารถนำข้อมูลนี้มาเลือกชนิดข้าวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละบุคคลได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโภชนาการแบบแม่นยำ (precision nutrition) ในบริษัทเอกชนต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น www.daytwo.com และ www.joinzoe.com ได้มีการใช้คุณลักษณะของจุลินทรีย์ในลำไส้ร่วมกับเพศ อายุ ดัชนีมวลกาย โรคร่วม และภาวะดื้อต่ออินซูลินเพื่อทำนายการตอบสนองของแต่ละบุคคลต่อการบริโภคอาหารโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และวิธีการปัญญาประดิษฐ์เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีความซับซ้อนมาก (JAMA. 2019;321(23):2281-2.) สำหรับประเทศไทย พบว่า ยังไม่มีการนำความแตกต่างระหว่างบุคคลในแง่ของเชื้อจุลชีพประจำถิ่นในลำไส้มาใช้ประกอบในการให้คำแนะนำในการเลือกรับประทานข้าวไทยได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจในคนไทย
สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมโภชนาการจำเพาะบุคคล เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เลือกรับประทานข้าวไทย เพื่อลดระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหาร โดยอาศัยลักษณะจุลชีพในลำไส้และปัญญาประดิษฐ์” โดยมี ผศ.นพ. พรพจน์ เปรมโยธิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ โดยให้อาสาสมัครรับประทานสูตรข้าวไทยหลายชนิด แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานข้าวไทยสูตรต่าง ๆ ตามหลักการโภชนาการจำเพาะบุคคล ประกอบกับการตรวจอุจจาระเพื่อประเมินเชื้อประจำถิ่นในลำไส้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาร่วมกับ เพศ อายุ ดัชนีมวลกาย และผลตรวจเลือด ในการทำนายและคัดเลือกสูตรข้าวไทยที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล และพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อทำการคำนวณและทำนายเทคนิคด้านปัญญาประดิษฐ์
ผลสำเร็จของงานวิจัย สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร เพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทยโดยเน้นประโยชน์ต่อสุขภาพที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเองเพื่อป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อนได้อย่างเหมาะสม เป็นการลดภาระแก่ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง