สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การปลูกงา พืชทนแล้ง มาแรงเพื่อสุขภาพ

การปลูกงาขาว งาดำ และงาเกษตรนับเป็นหนึ่งในผลผลิตการเกษตรที่เป็นที่ต้องการของตลาด ยิ่งในห้วงเวลานี้ที่ผู้คนต่างหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น งาเป็นแหล่งของโภชนาการที่ดีจึงมีแนวโน้มว่าจะมีตลาดเปิดรับเพิ่มมากขึ้น จัดเป็นพืชที่ศักยภาพและมีเกษตรกรหลายรายหันมาให้ความสนใจในการปลูก เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย สามารถปลูกสลับกับพืชหลักในช่วงก่อนและหลังฤดูพืชหลัก ปลูกได้ทั้งในนาและในไร่ ทนต่อสภาพแล้งและความร้อนได้ดี ไม่ทนต่อสภาพอากาศเย็น จึงเหมาะที่จะปลูกในประเทศไทยได้

หากจะทำการปลูกงาจะต้องเลือกปลูกในทำเลที่ดินดี เป็นดินร่วนปนทราย ไม่ขังน้ำ หากเป็นดินดอนจะยิ่งดีมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน  ค่า pH ควรอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 แม้ว่างาจะทนต่อความแห้งแล้ง แต่ไม่ควรให้ขาดน้ำนานเกินไป อย่างน้อยควรมีปริมาณฝนไม่ร้อยกว่า 300 มิลลิเมตร หรือมีแหล่งน้ำชลประทานรองรับเพื่อใช้ในช่วงฝนขาดช่วงที่ยาวนาน เพื่อให้ต้นงาสามารถให้ผลผลิตได้ดี  และไม่ควรปลูกพืชประเภทงาซ้ำหลายปี เพื่อป้องกันการระบาดของแมลงและโรคพืช

การปลูกงานิยมทำด้วยกัน 2 วิธี คือ การปลูกแบบหว่านเมล็ดและการปลูกแบบโรยเมล็ดเป็นแถว ซึ่งเราต้องเตรียมดินให้ร่วนซุยมากๆ เพื่อให้มีอัตรางอกสูง เพราะเมล็ดงานั้นมีขนาดเล็กมาก โดยส่วนใหญ่จะไถราว 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับชนิดของดินในแปลงปลูก เพราะหากเป็นดินเหนียวจะต้องไถพรวนมากครั้งกว่าดินร่วน เพื่อให้โครงสร้างดินเหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นงา

สำหรับการปลูกแบบหว่านเมล็ดงานั้นจะต้องหว่านให้เมล็ดกระจายทั่วทั้งแปลงแล้วรีบกลบดินทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดพันธุ์โดนความร้อนจากแดดมากไปเพื่อให้งอกดีขึ้น ส่วนการโรยเมล็ดนั้นจะต้องใช้คราดขีดแถว แล้วทำการโรยเมล็ดตามแถวแล้วกลบด้วยดิน ซึ่งการโรยเมล็ดจะใช้เมล็ดงาราว 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่การปลูกแบบหว่านจะใช้เมล็ดงาราว 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้มีต้นทุนเมล็ดงาที่มากกว่า และมีกระบวนการปลูกที่ใช้เวลาและแรงงานมากกว่า การหว่านเมล็ด แต่การปลูกแบบโรยเป็นแถวนั้นมีข้อดี ที่ต้นงาจะขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ทำให้การควบคุมโรคและแมลงทำได้ง่าย ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่าแบบหว่าน

สำหรับการเก็บเกี่ยวงาที่ส่วนใหญ่จะมีอายุหลังจากที่ปลูกแล้วราว 70-120 วันแตกต่างกันไปตามพันธุ์ที่เลือกมาปลูก ให้ทำการใช้เคียวเกี่ยวหรือใช้เครื่องเกี่ยวงาเกี่ยวผลผลิต หากเป็นงาดำและงาเกษตร(งาดำแดง)ให้นำมาบ่มเพื่อให้งาแห้งและง่ายต่อการเคาะเมล็ด ส่วนงาขาวและงาสำหรับรับประทานไม่ต้องทำการบ่ม ให้นำไปตากและเคาะเมล็ดได้เลย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook