สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย

การเลี้ยงผึ้ง ได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงอย่างจริงจังมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีฟาร์มเลี้ยงผึ้งมากกว่า 1,000 แห่ง แต่ละแห่งจะใช้พืชอาหารผึ้งแตกต่างกันไปตามพืชหลักที่ปลูกไว้ ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นจี่ ลำไย ข้าวโพด นุ่น โดยการเลี้ยงผึ้งนั้นจะเป็นการสร้างอาชีพเสริมจากพืชเดิมที่เกษตรกรได้ปลูกไว้อยู่แล้ว เป็นการเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรที่เกษตรกรมีอยู่ในมือแล้ว ในบทความนี้เราจะมาเล่าเรื่องการเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย

การเลี้ยงผึ้งในสวนลำไยมีข้อดีคือลำไยเป็นพืชที่มีน้ำหวานเป็นอาหารแก่ผึ้งในปริมาณมาก แม้ว่าเกสรจะไม่มากก็ตาม แต่เป็นพืชที่ผลิดอกได้ตลอดทุกฤดู ลักษณะทรงพุ่มและการเว้นระยะของการปลูกลำไยทำให้เกิดพื้นที่โล่งบริเวณใต้ทรงพุ่ม สะดวกต่อการเลี้ยงผึ้ง มีร่มเงาบังแดดบังลมได้ดี ทำให้รังผึ้งไม่ร้อนและเอื้อให้ผึ้งหาน้ำหวานและนำมากักเก็บไว้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังมากนัก

การเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย จะได้ผลผลิตที่ตลาดให้การยอมรับมากกว่าการเลี้ยงโดยการใช้น้ำหวานจากน้ำตาล เพราะน้ำหวานจากเกสรดอกลำไยนั้นเป็นน้ำหวานตามธรรมชาติที่มีคุณค่าสูง ทั้งวิตามินและแร่ธาตุรวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผู้รักสุขภาพให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของน้ำผึ้งและมีแนวโน้มได้รับความนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งในสวนลำไยมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำผึ้ง เกสรผึ้ง นมผึ้ง ชันผึ้งและไขผึ้ง

การจะเริ่มต้นเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย นอกจากความรักในผึ้ง ความมั่นใจในการสัมผัสผึ้ง ความพร้อมด้านทุนแล้ว ควรต้องเข้าใจในด้านเทคนิคและการจัดการอย่างครบถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจลงมือปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่เรื่องของพันธุ์ผึ้ง ลักษณะทางกายภาพของผึ้ง วงจรชีวิต วรรณะ รวมไปถึงการจัดการรังผึ้ง สำหรับการคัดเลือกพันธุ์ผึ้งเพื่อนำมาเลี้ยงนั้น ควรใช้เวลาสำรวจฟาร์มผึ้งหลายๆ แห่ง เพื่อพิจารณาสุขภาพผึ้ง โดยสังเกตได้จากปากรังผึ้งที่สะอาด ผึ้งมีไซส์ใหญ่และขนาดตัวไล่เลี่ยกัน มีความกระฉับกระเฉง ไม่มีโรค เฟรมผึ้งมีการวางไข่ทั่วถึงและสม่ำเสมอปกคลุมทั้งเฟรม   เมื่อมีคุณสมบัติครบ ให้ทำการเปรียบเทียบราคาอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงเลือกซื้อจากฟาร์มที่เชื่อถือได้และเลือกรังผึ้งที่มีนางพญาผึ้งสาวเพราะจำวางไข่ได้มากกว่าพญาผึ้งที่มีอายุมาก อาจจะเริ่มต้นเลี้ยงในรังที่มี 5-10 เฟรม จำนวน 2-5 รังก่อนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และทักษะมากขึ้น ก่อนที่จะลงทุนขยายต่อไป สำหรับการเก็บผลผลิตน้ำผึ้งจะต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ ทั้งในกระบวนการกรอง การบ่มน้ำผึ้ง และการบรรจุขวดหรือภาชนะ ก่อนที่จะนำออกจำหน่ายในท้องตลาดต่อไป ทั้งนี้ ควรทำการเปลี่ยนพญาผึ้งทุกๆ 12-24 เดือน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook