สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ความต้องการโภชนะของโคนมในประเทศไทย

การเลี้ยงโคนมเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน โดยรัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญอุตสาหกรรมนี้อย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2514 ด้วยการจัดตั้ง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และปัจจุบัน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเลี้ยงโคนมนมเพื่อลดการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เพื่อทดแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เกิดความท้าทายด้านการผลิตและการตลาด ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะพัฒนาการเลี้ยงโคนมอย่างต่อมายาวนานแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ขาดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ขั้นสูงในด้านการจัดการให้อาหารโคนมอย่างเป็นระบบทำให้ผลผลิตเฉลี่ยของน้ำนมดิบต่อโคหนึ่งตัวค่อนข้างต่ำ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตน้ำนม โดยต้นทุนอาหารจัดเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สูงที่สุดของต้นทุนการผลิตน้ำนมทั้งหมด

ความต้องการโภชนะของโคนมในประเทศไทย

การคำนวณสูตรอาหารโคนมที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ต้องใช้ข้อมูลค่าความต้องการโภชนะและพลังงานของโคนมจากต่างประเทศ เช่น NRC (1980) NRC (2012) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีแหล่งที่มาของชนิดวัตถุดิบ พันธุ์สัตว์ และสภาพสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างจากประเทศไทย ทำให้สูตรอาหารขาดความถูกต้องแม่นยำ ดังนั้น การให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนะแก่โคนมอย่างเหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มผลผลิตน้ำนม ปรับปรุงคุณภาพน้ำนม และลดต้นทุนการผลิต

สวก. ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “ความต้องการโภชนะของโคนมในประเทศไทย: ความต้องการโปรตีนและพลังงานเพื่อการเจริญเติบโตของโคนมทดแทนฝูง” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อให้คณะผู้วิจัยทำการศึกษาความต้องการโภชนะของโคนมระยะต่าง ๆ ค่าการย่อยได้ของโภชนะและค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ของวัตถุดิบอาหารโคนม เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้เป็นมาตรฐานในการประกอบสูตรอาหารเลี้ยงโคนมในประเทศไทย

ผลสำเร็จของงานวิจัยทั้ง 3 ระยะ ทำให้เกิดฐานข้อมูลค่าความต้องการโภชนะของโคนมทดแทนฝูงในประเทศไทย และได้จัดทำเป็นคู่มือความต้องการโภชนะของโคนมในประเทศไทยสำหรับให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กลุ่มหรือสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม สถาบันการศึกษา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการอาหารให้อาหารโคนมและประกอบสูตรอาหารให้ตรงตามความต้องการของโคนมแต่ละระยะอย่างถูกต้องแม่นยำ ลดต้นทุนการผลิตโคนมและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมของประเทศไทยให้เกิดความมั่นคงต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook