สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ฤทธิ์ทางชีวภาพของไขอ่อนและไขแข็งจากรำข้าวในเซลล์เพาะเลี้ยงเพื่อประยุกต์ใช้ในเครื่องสำอาง

ประเทศไทยผลิตและส่งออกน้ำมันรำข้าวในตลาดโลกในปริมาณมากกว่า 50 กิโลตัน (GlobalMarketInsights, 2018) กระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าวยังให้ผลพลอยได้อันมีค่าในปริมาณมาก ได้แก่ ไขจากรำข้าวและแป้งรำข้าว ไขจากรำข้าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ไขอ่อน(soft wax) และไขแข็ง (hard wax) กรดไขมันเป็นสารชีวโมเลกุลในร่างกาย มีความสำคัญต่อการส่งสัญญาณภายในเซลล์ ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารไขมันในร่างกาย และเป็นส่วนประกอบของเซลล์เมมเบรนและโครงสร้างของผิวหนัง กรดไขมันสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทตามจำนวนพันธะคู่ในโมเลกุล คือกรดไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันไม่อิ่มตัว กรดไขมันทั้งสองชนิดมีบทบาทสำคัญในการทำงานต่างๆ ภายในเซลล์ รวมถึงควบคุมการผลิตเมลานินซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสีผิว (Ando et al., 2004; Ando et al., 2006) นอกจากสุขภาพของผิวหนังแล้ว กรดไขมันยังมีบทบาทในการควบคุมการหลุดร่วงของเส้นผมและการเกิดสิวด้วยการควบคุม 5α-reductase (Ruksiriwanich et al., 2011) โมเลกุลเหล่านี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องร่างกายจากความเสียหายจากอนุมูลอิสระและโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น ความชรา (Custódio et al., 2014)

น้ำมันจากพืช ได้จากการสกัดพืชด้วยตัวทำละลายหรือหีบน้ำมันจากพืช ถือว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพสูงกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันจากสัตว์เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณที่สูงกว่า กรดไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้สามารถช่วยบำรุงร่างกายและป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท และมะเร็ง (Bourre, 2004; Custódio et al., 2014) จากบทบาทและหน้าที่ของกรดไขมันและน้ำมันจากพืชต่อกลไกการทำงานต่างๆ ในร่างกาย จึงมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของกรดไขมันและน้ำมันจากพืชสำหรับประยุกต์ใช้เป็นสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น น้ำมันเมล็ดชามีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะกรดโอเลอิกซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 85% ขององค์ประกอบ และน้ำมันเมล็ดยางพารามีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิกและกรดลิโนเลอิก ซึ่งมีองค์ประกอบมากกว่า 75% พบว่าทั้งน้ำมันเมล็ดชาและน้ำมันเมล็ดยางพาราสามารถยับยั้งการก่อตัวของเมลานินได้ นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Chaikul et al., 2017a; Chaikul et al., 2017b) น้ำมันดอกบัวมีกรดไขมันอิ่มตัวและเอสเทอร์ของกรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปาล์มิติกเมทิลเอสเทอร์ ซึ่งคิดเป็น 22.66% ของน้ำมัน สารนี้กระตุ้นการผลิตเมลานินซึ่งเป็นตัวการในการสร้างเม็ดสีผิว (Jeon et al., 2009) ขณะที่สารสกัดจากรำข้าวหรือน้ำมันรำข้าวมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิก กรดลิโนเลอิก และกรดลิโนเลนิก ซึ่งมีอยู่มากกว่า 40% ของน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีวิตามินอี โอรีซานอล และไฟโตสเตอรอล ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ (Nagendra Prasad et al., 2011; Ruksiriwanich et al., 2011)

จากคุณประโยชน์เชิงหน้าที่ของกรดไขมันและน้ำมันจากพืช ไขมันจากรำข้าวที่มีองค์ประกอบใกล้เคียงกัน จึงอาจจะมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีประโยชน์ในเชิงสุขภาพ ซึ่งยังไม่มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพสำหรับใช้ประโยชน์เป็นสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่  สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของไขอ่อนและไขแข็งจากรำข้าวในเซลล์เพาะเลี้ยงเพื่อประยุกต์ใช้เป็นสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ในเครื่องสำอาง คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาองค์ประกอบสำคัญและลักษณะทางเคมีกายภาพของไขจากรำข้าว ทั้งไขอ่อนและไขแข็ง ความเป็นพิษและฤทธิ์ทางชีวภาพของไขจากรำข้าว ทั้งฤทธิ์ต่อกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน ฤทธิ์ต่ออนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต่อปริมาณคอลลาเจน ฤทธิ์ต่อเอนไซม์แมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส (matrix metalloproteinase; MMP) 1 และ 2 และฤทธิ์ต่อกระบวนการอักเสบในเซลล์เพาะเลี้ยง จนประสบผลสำเร็จ

ผลสำเร็จของงานวิจัยทำให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพของไขอ่อนและไขแข็งจากรำข้าว เพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์เป็นสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่เตรียมน้ำมันรำข้าวและวัตถุดิบสำหรับเตรียมผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมไขรำข้าว เพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบที่มีฤทธิ์เชิงหน้าที่ และสามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิตพลอยได้จากอุตสาหกรรมการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดของเหลือที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook