สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

จาวตาล ส่วนของพืชที่มีตำนาน

จาวตาล ไม่ใช่ลูกตาลธรรมดาที่เรามักซื้อมาทำของหวานประเภทลอยแก้ว แต่ส่วนนี้จะได้มาเมื่อเรานำลูกตาลที่แก่ได้ที่ไปขยายพันธุ์เป็นกล้า หรือฝังไว้ในดิน ระหว่างนั้นเมื่อเกิดการงอกราว 30-50 เซนติเมตร ก่อนที่จะเจริญมากไปกว่านั้น ให้นำผลตาลมาผ่าจะพบจาวสีขาวขุ่นออกเหลืองเนื้อนุ่ม รับประทานได้ เนื้อจาวหอมและรสหวาน

อันที่จริงแล้วต้นตาลเป็นพืชที่สามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน โดยพบว่ามีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตมนุษย์มาช้านาน ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จะเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “katpaha tharu” ซึ่งแปลความได้ว่า “ต้นไม้จากท้องฟ้า” โดยมีความเชื่อโบราณว่าเป็นต้นไม้จากพระเจ้า เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ทุกส่วนสามารถใช้ประโยชน์เป็นปัจจัย 4 ได้ และในมหากาพย์เรื่อง มหาภารตะของฮินดู จะใช้ต้นตาลเป็นธงประจำรถม้าของท้าวภีษมะ  เป็นต้น

การใช้ประโยชน์ลำต้นของพืชชนิดนี้ ด้วยความทนทานต่อสภาพอากาศ ในเชิงโครงสร้างสามารถนำไปทำเป็นเสาเรือน และสามารถประกอบเป็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไม้สอย และเรือ ได้  ส่วนของกะลามักนำมาใช้เป็นถ่านหรือนำมาใช้เป็นวัสดุเพื่อทำหัตถกรรม ใบใช้มุงหลังคาและเครื่องจักสาน ก้านใบตาลส่วนยอดนำมาทำเส้นใยเพื่อผลิตเชือก และส่วนโคนใช้ทำไม้กวาด ผลตาลหรือลูกตาลหากยังอ่อนจะนำไปปรุงให้สุกด้วยการต้มเพื่อรับประทานด้วยการจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทำลูกตาลลอยแก้ว แต่หากผลแก่จะนำมาทำขนมหวานไทยที่ชื่อ “ขนมตาล” ก่อนที่จะนำเมล็ดที่เหลือไปเพาะทำกล้าพันธุ์หรือจาวตาล ซึ่งจะนำไปเชื่อมขายและมักจะเรียกกันว่าลูกตาลเชื่อมมากกว่าจาวตาลเชื่อม

สำหรับการผลิตจาวตาลนั้นในเชิงพาณิชย์นั้น จะต้องระดมเก็บผลตาลสุกจากบริเวณโคนต้นตาล และนำผลที่ได้ทั้งหมดไปหมักแช่ในน้ำอย่างน้อย 60 วัน หรือมากกว่า รอจนเนื้อตาลเปื่อยและลอกออกจนหมด เพื่อป้องกันไม่ให้มีเนื้อตาลติดมาจนอาจจะเกิดมอดมาก่อกวนให้จาวตาลเสียได้ เมื่อมั่นใจว่าว่าเนื้อตาลหลุดหมดแล้วจึงนำลูกตาลไปเพาะกลบด้วยดินบางๆ ใช้เวลาราว 25-30 วันหน่อจะเริ่มงอกราว 30-50 เซนติเมตร แล้วจึงตอนหน่อให้เหลือ 10 เซนติเมตรและเพาะต่ออีกราว 45 วัน แล้วค่อยนำมาเฉาะเอาจาวตาลและนำไปล้างจนไม่เหลือเมือก ก่อนที่จะนำลงไปต้มในน้ำที่เดือดจัด สังเกตว่าเนื้อจาวใสและจมลงใต้น้ำแสดงว่าสุกได้ที่ จึงยกลงจากเตาและเทน้ำออก และนำไปเชื่อมต่อไปซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีสูตรการเชื่อมแตกต่างกันไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook