สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ชะอม ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวทั้งปี

ชะอมเป็นพืชประเภทไม้พุ่มที่นิยมปลูกกันตามบ้านเรือนทางภาคใต้ เป็นผักที่นำมาใช้ปรุงอาหารได้ ส่วนชะอมที่ขึ้นอยู่ตามป่าตามธรรมชาติจะมีลักษณะลำต้นสูงใหญ่ผิดแปลกไปจากต้นชะอมที่ปลูกตามบ้านเรือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วต้นชะอมก็มีอยู่เพียงสองประเภทเท่านั้น คือ ชะอมพันธุ์เบา และชะอมพันธุ์หนัก ชะอมพันธุ์เบาจะมีลักษณะลำต้นรวมทั้งใบเรียวเล็กกว่าชะอมพันธุ์หนัก ตรงกันข้ามกับชะอมพันธุ์หนักที่มีใบรวมทั้งลำต้นขนาดใหญ่เป็นพุ่มแน่นให้ผลผลิตได้เก็บเกี่ยวกันแบบเน้น ๆ

เพื่อนๆเกษตรกรที่มีความสนใจอยากเพาะปลูกชะอมไว้เก็บเกี่ยวหรือปลูกไว้ขาย วิธีปลูกก็ไม่ยากเลยครับ โดยวิธีปลูกหรือวิธีเพาะพันธุ์ชะอมมีให้เลือกด้วยกันถึงสองวิธี คือการปักชำชะอม และ การเพาะเมล็ด แต่เพื่อความสะดวกและได้พันธุ์ชะอมที่แข็งแรงแล้วเราส่วนใหญ่จึงเลือกวิธีการปักชำมากกว่า โดยวิธีการปักชำกิ่งชะอมนั้นให้เริ่มจากการหากิ่งพันธุ์จากต้นชะอมที่ไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป จากนั้นก็ตัดกิ่งพันธุ์ให้ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และทำการเตรียมดินที่มีส่วนผสมของเถ้าแกลบและปุ๋ยคอก ในอัตรา 3:3:1 เช่นเดียวกับการปักชำกิ่งพืชชนิดอื่น นำดินใส่ในถุงเพาะและนำกิ่งที่ได้ปักลงไปในถุง วิธีดูแลกิ่งปักชำ ให้หมั่นรดน้ำให้ชุ่มแต่รดแค่วันละสองครั้งก็เพียงพอแล้ว เมื่อครบ 60 วัน ชะอมก็จะแตกรากออก จากนั้นก็ให้เลี้ยงต่อไปเป็นเวลา 60 วัน ก่อนที่จะนำลงไปปลูกในแปลงได้

เมื่อครบกำหนดแล้วก็มาเตรียมดินในแปลงกันครับ โดยเริ่มจากการพรวนดินและยกร่องดินพอประมาณ จากนั้นก็นำชะอมที่มีรากแข็งแรงแล้ว ลงปลูกในแปลง ขุดดินให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร นำกิ่งชำปักลงไปได้ถึง 4 กิ่ง และให้มีระยะห่างระหว่างแถวกับต้น 1 เมตรพอประมาณ โดยเว้นบริเวณไว้ให้มีน้ำในแปลงตามร่องผัก จากนั้นก็หาที่บังแดดหรือทางมะพร้าวมาช่วยให้ความร่มเงากับชะอม เพราะชะอมไม่ชอบแดดที่จ้าจนเกินไป ส่วนในเรื่องการกำจัดวัชพืชนั้นหากปลูกบริเวณบ้านเพียงไม่กี่ต้นแล้วก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่ แต่หากปลูกไว้เก็บเกี่ยวแล้วก็ควรที่จะกำจัดวัชพืชปีละสองถึงสามครั้งก็เพียงพอแล้วล่ะครับ ส่วนในเรื่องของการให้ปุ๋ยแก่ชะอมนั้นสามารถให้ได้เมื่อเห็นว่าต้นชะอมไม่สมบูรณ์ โดยอาจจะใช้เพียงแค่ปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงฟื้นฟูให้ชะอมกลับมาเขียวสดชื่น แตกยอดงามได้อีกครั้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้ชะอมงามๆ ไว้เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปีแล้วล่ะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook