สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ตำแย สมุนไพรไม้ล้มลุกขนาดเล็ก

ตำแย เป็นพืชสมุนไพรซึ่งมีหลายชนิดแต่ที่รู้จักกันส่วนใหญ่จะเป็นตำแยตัวเมียและตำแยตัวผู้ โดยตำแยตัวเมียจะพบมากในแถบเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ศรีลังกา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงออสเตรเลียและแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย และตำแยตัวผู้ซึ่งนิยมเรียกว่าตำแยแมว พบได้ทั่วไปในเขตร้อนในไนจีเรีย แอฟริกาตะวันตก และหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นในอินเดียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เยเมนและโอเชียเนีย ตำแยตัวผู้ที่มีก่อให้เกิดอาการคันน้อยกว่าตำแยตัวเมีย

ตำแยตัวผู้  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Acalypha indica, L. อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae เป็นไม้ล้มลุกที่มีช่อดอกที่มีแกนช่อยาว มีดอกย่อยจำนวนมาก มักจะมีเพศเดียว ก้านดอกย่อยสั้นหรือไม่มีเลย ไม่มีกลีบดอก โดยทั่วไปช่อจะเกิดบนกิ่งห้อยลง มีรูปถ้วยล้อมรอบ สามารถเติบโตได้สูงถึง 1.2 เมตร หากปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ที่พบโดยทั่วไปมักจะมีขนาดลำต้นประมาณ 30-90 เซนติเมตร ลำต้นเป็นรูปทรงกระบอกขนาดเล็ก มีใบรียาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร กว้าง 2-5 เซนติเมตร  สีเขียว โคนใบกลม ปลายใบมนแหลม ขอบใบหยัก ใบนุ่มอ่อน แผ่นใบมีขนบางๆ มีเส้นใบ 3-4 เส้น ออกดอกบริเวณง่ามใบทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย สีขาวอมเขียว

ใบสดของต้นตำแยแมวสามารถนำมาเป็นส่วนผสมของแกงเลียงได้ แต่ที่นิยมนำมาใช้อย่างมากคือนำมาให้แมวกินเพื่อให้สำรอกอาหารที่มีพิษที่กินเข้าไปออกมา ช่วยขับพิษและถอนพิษในแมว และว่ากันว่าหากแมวส่วนใหญ่ได้พบเห็นต้นตำแยชนิดนี้พร้อมรากจะมาคลอเคลียใกล้ๆ รากด้วยความเคลิบเคลิ้ม ส่วนในทางการแพทย์พื้นบ้าน ก็ได้นำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับมนุษย์ โดยนำใบสดมาต้มดื่มเพื่อขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ แลยังสามารถนำรากและต้นมาบรรเทาอาการภูมิแพ้และหอบหืด แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีระคายเคืองในช่องท้องได้ เป็นต้น

ส่วนตำแยตัวเมียนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Laportea interrupta (L.) Chew อยู่ในวงศ์ Urticaceae เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ละส่วนของต้นพืชจะปกคลุมด้วยขนที่มีพิษ ลำต้นเล็ก ใบมีสีเขียวแก่แต่ท้องใบมีสีที่อ่อนกว่าลักษณะทรงคล้ายใบโพธิ์ ขอบใบมีหยักโดยรอบ ขนจากต้นพืชชนิดนี้ก่อให้เกิดการแพ้เพราะทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่น แสบร้อนและอาจจะมีอาการบวมบริเวณผิวหนังที่สัมผัสโดนพิษ สำหรับคนที่มีอาการแพ้มากอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเมื่อสัมผัสขนพิษให้รีบกำจัดขนออกจากผิวหนังในทันที หากมีอาการแพ้มากต้องรีบพบแพทย์

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook