สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นกระพี้เขาควาย ไม้เศรษฐกิจของไทย

ต้นกระพี้เขาควาย แม้ชื่อจะแปลกหูแต่กลับเป็นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เป็นไม้ต้นในสกุล Dalbergia ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับไม้พะยูงและชิงชัน ที่เป็นไม้หายาก มีตลาดต้องการนำไปใช้ผลิตเป็นเครื่องเรือนราคาสูงโดยเฉพาะประเทศจีน เพราะเป็นไม้ที่มีผิวเนื้อไม้เนียนละเอียด เนื้อแข็ง มีน้ำหนักเยอะ ทำให้ใช้งานได้ทนและนาน สีไม้เป็นสีเข้มเฉดดำ เมื่อขัดผิวและแต่งแล้ว จะเงางาม นิยมนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ รวมทั้งเครื่องดนตรีต่างๆ ที่มีราคาสูง แต่เดิมนั้นเราใช้ไม้เนื้อแข็งเหล่านี้ในการสร้างบ้านปลูกเรือน ใช้เป็นเสาหรือโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งไม้พื้นด้วย

ต้นกระพี้เขาควาย เป็นไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย เป็นไม้ดั้งเดิมในเขตทวีปเอเชียแปซิฟิก พบมากในเมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยเราอาจจะมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน เช่น ในภาคเหนือจะเรียกว่า เก็ดดำหรือเก็ดเขาควาย ภาคกลางจะเรียกสั้นๆ ว่า กระพี้ ส่วนในเพชรบูรณ์เรียก กำพี้ และอุดรธานีเรียก อีเม็งใบมน เป็นต้น

ลักษณะโดยทั่วไปของต้นกระพี้เขาควาย จะเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงระหว่าง 10 – 25 เมตร จัดเป็นไม้ขนาดกลางไปจนถึงไม้ขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นเรือนพุ่มโปร่งลักษณะกลมสูง ลำต้นมีเปลือกสีเทา แตกเป็นร่องตื้นๆ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผลิใบเป็นใบสีเขียวแบบใบใบประกอบลักษณะขนนกปลายคลี่ ประกออบด้วยใบย่อยจำนวน 7-11 ใบความยาวของช่อใบประมาณ 12 เซนติเมตร ใบย่อยรูปขอบขนานทรงไข่กลับ โคนใบกลมมน ก่อนถึงปลายใบผายออก ปลายใบเว้าตรงกลาง ขอบใบงุ้มลงเล็กน้อย แตกดอกเป็นกระจุกตามซอกใบบริเวณปลายยอดของกิ่ง ดอกมีสีขาว ขนาดเล็ก ให้ผลเป็นฝักสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ กลางฝักจะมีเมล็ดราว 1-3 เมล็ด

เราสามารถนำเมล็ดจากต้นกระพี้เขาควายมาเพาะเพื่อขยายพันธุ์ได้ โดยแช่น้ำเย็นไว้ 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะนำไปเพาะในภาชนะเพาะที่บรรจุทรายไว้ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอกออกมาเป็นต้นกล้า หลังจากนั้นปล่อยให้เจริญเติบโตประมาณ 10-14 วัน จึงทำการย้ายต้นกล้าลงถุงดำที่ใส่วัสดุเพาะที่เหมาะสม โดยดินที่ใช้ควรเป็นดินตะกอนที่ได้จากแหล่งน้ำจืด เพราะมีอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง และนำมาผสมกับทราย ขี้เถ้า  แกลบ และปุ๋ยหมัก จะช่วยกระตุ้นการงอกของต้นไม้ได้ดียิ่งขึ้น เลี้ยงไว้ในถุงเพาะชำราว 4 เดือน เมื่อต้นกล้ามีความแข็งแรงสมบูรณ์และมีความสูงมากกว่า 30 เซนติเมตร จึงย้ายลงปลูกในดินและดูแลต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook