สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นตะโกสวน นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

ต้นตะโกสวน เป็นไม้ดอกในวงศ์ Ebenaceae มีถิ่นกำเนิดในอนุทวีปอินเดียและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินเดีย อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า พลับป่า ในประเทศไทยพบได้ในป่าดิบชื้นและที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ นับเป็นไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายประการ เพราะเป็นไม้เศรษฐกิจ เนื้อไม้สามารถนำมาเป็นพื้นบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ด้ามปืน ด้ามขวาน ด้ามมีด และยังนำไปผลิตเป็นเครื่องดนตรี เช่น กีตาร์ เป็นต้น ส่วนใบและผลมักนำมาใช้เป็นสีสำหรับย้อมผ้าสีดำ ขณะที่ทั้งเปลือกของลำต้นและผลยังถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรตามตำรับยาอายุรเวทของอินเดียอีกด้วย

ส่วนต่างๆ ของต้นตะโกสวนที่ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพร โดยมีสรรพคุณต่างๆ คือ เปลือกของลำต้น ช่วยบำรุงกำลัง ลดเบาหวาน แก้อาการอาเจียน ส่วนของเปลือกรากใช้รักษาโรคฟัน บรรเทาอาการท้องเสียแก้อาการบิดมวนในช่องท้อง เนื้อไม้นำมาใช้เป็นยากระตุ้นการย่อยอาหาร ยางจากต้นไม้สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ใช้ทาแผลภายนอก เช่น น้ำกัดเท้า เป็นต้น ส่วนของดอก ผล และรากนำมาใช้ถ่ายพยาธิ เปลือกผลแก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เปลือกรากใช้เป็นยาลดบวมและสมานแผล เป็นต้น

ต้นตะโกสวน เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว มีการเจริญเติบโตช้ามาก สามารถสูงได้ถึง 35 เมตร และมีลำต้นสีดำ เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 70 ซม. เปลือกของลำต้นมีสำดำแกมเขียว มีรอยแตกเป็นสะเก็ดตื้นๆ ด้านในของเปลือกไม้มีสีน้ำตาลแกมแดง กระพี้ไม้มีสีขาว  ผิวของกิ่งอ่อนเรียบเนียน แตกใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปทรงใบเป็นลักษณะรูปไข่กลับ โคนใบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบสอบมน แผ่นใบด้านหน้ามีต่อม ใบหนา ผิวเรียบทั้งผิวใบและท้องใบ มีเส้นใบเป็นลายจำนวนมาก เห็นได้ชัดเจน แตกดอกแยกเพศแยกต้น ดอกเพศผู้จะผลิดอกมาเป็นกระจุกตามซอกใบเป็นช่อแขนง ช่อละ 6-9 ดอก ก้านดอกมีขนอ่อนๆ ปกคลุมบ้าง ดอกมีสีเหลืองอ่อน บริเวณกลีบดอกด้านนอกมีขนหนา ส่วนดอกเพศเมียจะผลิเป็นดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบ มีดอกที่ใหญ่กว่าดอกเพศผู้ ผลมีลักษณะกลมเส้นผ่านศูนย์กลางราว 4-6 เซนติเมตร ผลอ่อน เนื้อแข็ง มีสีเขียวจางๆ มีขนปกคลุมเปลือกนอก มียางเยอะ เมื่อผลสุกสีผลจะกลายเป็นสีเหลืองเข้มออกส้ม เนื้อในผลจะเละ ด้านในผลมีเมล็ด

การปลูกต้นตะโกสวนสามารถปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง โดยหลุมปลูกควรมีขนาดประมาณ 50*50*50 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก 1 ส่วนเข้ากับดินร่วน 2 ส่วน แต่หากปลูกลงกระถางเป็นไม้ดัด ควรใช้อัตราส่วนปุ๋ยคอก 1 ส่วน ต่อดิน 1 ส่วน และควรเปลี่ยนกระถางใหม่ทุก 2 ปี เพื่อให้ต้นไม้ได้เติบโตอย่างสมบูรณ์และสวยงาม

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook