สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นบ๊วย ผลไม้ในตระกูลเดียวกันกับลูกพรุน

บ๊วย มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษที่คนส่วนใหญ่รู้จักกัน 2 ชื่อ คือ Chinese plum และ Japanese apricot เป็นชื่อของต้นไม้ผลที่คนไทยเราส่วนใหญ่รู้จักผลแห้งที่เป็นของขบเคี้ยวมากกว่าผลสด เป็นผลไม้ในตระกูลเดียวกันกับลูกพรุนหรือลูกพลัม ลูกพีชหรือลูกท้อ เนคทารีน แอพพริคอท อัลมอนด์และเชอรี่  เป็นพืชดั้งเดิมของประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่ปลูกกันมายาวนาน จัดเป็นพืชเมืองหนาวหรือไม้ผลเขตหนาวชนิดหนึ่ง ทำให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูงของภาคเหนือของประเทศไทยที่มีอากาศหนาวเย็น โดยปัจจุบันพบได้ที่ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ส่วนพันธุ์พื้นเมืองจะพบได้ที่อำเภอแม่จันและอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 450 เมตร  ส่วนแหล่งปลูกที่สำคัญของโลกนั้นอยู่ในเสฉวนและยูนนานทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศของจีน

คำว่า “บ๊วย” เป็นคำทับศัพท์ที่คนไทยเราเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋ว ส่วนภาษาจีนแมนดารินเรียกว่าเหมย ขณะที่คนญี่ปุ่นจะใช้คำว่า อุเมะ เป็นผลไม้ยืนต้นที่มีความสบูรณ์ของลำต้น และมีระบบรากที่แข็งแรงและแทงลงดินได้ลึก เริ่มมีกิ่งก้านสาขาตั้งแต่โคนต้น ลักษณะของใบเล็ก โคนใบมน ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวขุ่น ขนาดของใบประมาณ 3*5-5*8 เซนติเมตร ผลิดอกออกมาเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน เป็นดอกขนาดเล็กให้กลิ่นหอมละมุน โดยจะผลิดอกในช่วงที่ปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคมขึ้นอยู่กับสภาพความหนาวเย็นของภูมิอากาศ หากหนาวจัดอาจจะทำให้ผลิดอกช้าลงได้ หลังจากนั้นจึงออกผลที่มีลักษณะคล้ายลูกท้อ มีสีเขียวเมื่อเป็นผลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองเมื่อผลแก่ ขนาดผลประมาณ 2.5*3.5 เซนติเมตร ผิวภายนอกของผลมีขนละเอียดปกคลุมทั่วทั้งผล เนื้อในผลมีกลิ่นหอม รสชาติเนื้อผลเปรี้ยว ด้านในผลมีเมล็ดเรียบแต่เนื้อแข็ง

ผลบ๊วยหากรับประทานผลสดจะมีรสชาติที่อาจจะไม่ถูกใจผู้บริโภคมากนักเพราะมีรสเปรี้ยวมากและยังอาจจะมีรสขมได้ด้วย ดังนั้นผู้ปลูกจะมักนำผลสดที่สุกพอเหมาะที่เนื้อผลยังแข็งอยู่ไปผลิตเป็นบ๊วยอบแห้งและบ๊วยดองเพื่อใช้เป็นขนมขบเคี้ยวและรับประทานเล่น  ส่วนผลที่แก่จัดเนื้อนิ่มแล้วจะนำไปแปรรูปด้วยการดองเป็นน้ำบ๊วยและยังสามารถนำมาเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตน้ำจิ้มของทอด รวมถึงผลิตเป็นน้ำผลไม้เข้มข้นเพื่อดับกระหายและบำรุงร่างกาย ส่วนในประเทศญี่ปุ่นยังได้นำบ๊วยไปผลิตเป็นเหล้าบ๊วยและแยมบ๊วยที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้รับความนิยมไปทั่วโลก

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook