สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นโคกกระสุน หรือหนามกระสุน

โคกกระสุน หรือในพื้นที่จังหวัดลำปางจะเรียกว่า หนามกระสุน มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Tribulus terrestris L.เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเขตที่มีภูมิอากาศอบอุ่นและมีความแห้งแล้งในฤดูร้อน ก่อนที่กระจายพันธุ์ไปยังเขตอบอุ่นและเขตร้อนทางตอนใต้ของยุโรป เอเชียใต้ แอฟริกา และกระจายพันธุ์ผ่านการปนเปื้อนจากการขนส่งเมล็ดพันธุ์ อาหารและพืชผลไปสู่ประเทศต่างๆ เช่น ทวีปอเมริกาและโอเชียเนีย ทั้งนี้พืชชนิดนี้ถูกจัดเป็นวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อพืชผลทางการเกษตรในประเภท noxious weed ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศแคนาดา

ต้นโคกกระสุน เป็นหญ้าล้มลุกอายุราว 1 ปี เจริญเติบโตด้วยการแผ่กิ่งก้านทอดตัวระนาบกับดิน เติบโตได้ถึง 1.6 เมตร บริเวณลำต้นมีขนปกคลุมทั่ว ปลายยอดอ่อนและดอกจะชูชันขึ้น รากแขนงจะแตกออกจากรากแก้วเพื่อช่วยดูดซับความชื้นในดินไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้พืชอยู่รอดได้ ทำให้สามารถเติบโตได้ในดินทุกสภาพ แม้กระทั่งในดินทรายในทะเลทราย หรือแม้กระทั่งในดินที่มีการบดอัดแน่นก็ตาม จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายพันธุ์ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

โคกกระสุน เป็นพืชที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเกี่ยวสมุนไพรไทยและสมุนไพรไทย-จีน ที่มักนำมาใช้ประโยชน์ในแวดวงกีฬา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายมีความแข็งแกร่งและเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายในการแข่งกีฬาให้ดีขึ้น และยังช่วยปรับฮอร์โมนในผู้หญิงในช่วงก่อนและระหว่างมีรอบเดือน ลดภาวะวัยทองได้ ในเชิงการแพทย์แผนไทยนั้นจะนำส่วนต่าง ๆ ของพืชชนิดนี้มาใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เมล็ดจากผลโคกกระสุน นำมาตากแดดให้แห้ง และนำมาต้มในน้ำสะอาดร่วมกับสมุนไพรกำลังวัวเถลิง เครือเขาแกบ และกำลังเสือโคร่ง เพื่อบำรุงร่างกาย ทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า บำรุงกำลัง ทำให้เจริญอาหาร ส่วนผลแห้งจะนำมาต้มเดี่ยวในน้ำสะอาด หรือจะนำผลแห้ง 15 กรัม มาต้มร่วมกับ ชุมเห็ดเทศ 30 กรัม เก๊กฮวย 20 กรัม และชะเอม 6 กรัม ซึ่งทั้ง 2 สูตร สามารถนำมาดื่มเพื่อช่วยลดความดันโลหิต และการดื่มน้ำที่ใช้ผลแห้งต้มยังช่วยทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์แก่สามารถคลอดบุตรได้ง่ายขึ้น

เมื่อนำต้นแห้งของโคกกระสุนมาบดเป็นผงร่วมกับเมล็ดปอ คราบจักจั่นและดอกสายน้ำผึ้งตามอัตราส่วนที่ถูกต้องสามารถนำมาใช้ทาผิวหนังภายนอกเพื่อลดอาการผื่นแพ้ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักนิยมนำมาใช้ประโยชน์ทั้งต้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ครอบคลุมหลายอาการทั้งแก้อาการเวียนหัว อาการวูบ ลดไข้ ขับเสลด บรรเทาอาการระคายคอ บรรเทาอาการอักเสบในหลอดลมและช่องปาก บำรุงตับ-ไต ขับลมในช่องท้อง แก้ลมพิษ เป็นต้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook