สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ถั่วดำ ธัญพืชสีนิลแสนลึกลับ

ถั่วดำ คือเมล็ดธัญพืชสีดำซึ่งเป็นหนึ่งในพันธุ์ถั่วเขียวเพียงแต่สีของเมล็ดแตกต่างกัน โดยประเทศที่เพาะปลูกถั่วดำมากที่สุดคือประเทศอินเดีย และยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการประกอบอาหารอินเดียมาช้านาน ก่อนที่จะกระจายพันธุ์ไปยังระเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีภูมิอากาศอบอุ่น ในประเทศไทยเราพบการเพาะปลูกทั่วไปในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำปางและพะเยาเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ

ถั่วดำ เป็นธัญพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งซึ่งปลูกได้ทั่วประเทศ มีความทนทานต่อทุกสภาพอากาศที่ และยังช่วยปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการตรึงไนโตรเจนในชั้นบรรยากาศไว้ในดิน เป็นพรรณไม้ล้มลุก ทรงพุ่มขนาดเล็กไม่เกิน 1 เมตร บางพันธุ์อาจไม่มีลำต้นตั้งตรง แต่กลับเลื้อยสูงกว่าระดับพื้นดินเพียงเล็กน้อย

ถั่วดำมีส่วนประกอบทางโภชนาการอาหารหลัก คือ แป้ง มีโปรตีนสูงถึงประมาณ 26% ไขมันต่ำ และยังมีแร่ธาตุและวิตามินอื่น ๆ เกือบ 3 เท่าของธัญพืชอื่นๆ  มีรสหวานและมีสรรพคุณในการขับพิษและของเหลวออกจากร่างกายทั้งเหงื่อและปัสสาวะ ทำให้การทำงานของไตดีขึ้น บำรุงโลหิต ลดความเสี่ยงต่อระบบหัวใจ และมีไฟเบอร์สูงทำให้ช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายอีกด้วย ทำให้มีความนิยมในการนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะขนมหวานต่างๆ เช่น ข้าวหลามถั่วดำ ข้าวเหนียวถั่วดำน้ำกะทิ เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการโดยเฉพาะสำหรับสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วยนะครับ

สำหรับการผลิตถั่วดำเชิงพาณิชย์นั้น จะต้องมีความใส่ใจในเรื่องของมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติที่ดีสำหรับถั่วชนิดแห้งต่างๆ เพื่อจะได้สินค้าที่มีคุณภาพและสามารถแข่งขันได้ในตลาด เริ่มตั้งแต่น้ำที่ใช้ในฟาร์มต้องสะอาดไม่ปนเปื้อนสารเคมีหรือน้ำเสีย รวมถึงความชื้นของดิน การวางระบบน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดการทำลายทรัพยากรน้ำโดยไม่จำเป็น ส่วนพื้นที่ปลูกต้องอยู่ห่างจากสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน มีการวางผังจัดการแปลงตามระบบความปลอดภัยอาหาร และต้องมีประวัติดารใช้แปลงเกษตรย้อนหลังตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และห้ามใช้สารเคมีในการเพาะพันธุ์และดูแลถั่วดำ การจัดหาเมล็ดพันธุ์นั้น ต้องได้มาจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ตรงตามพันธุ์ มีประวัติของเมล็ดพันธุ์ถูกต้อง มีอัตราการงอกงามตามมาตรฐาน และอย่าลืมต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ 100% เพื่อป้องกันการแพร่โรคต่างๆ ไปสู่คน และต้องใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น

หลังจากที่ปลูกอย่างถูกต้องตามกฎแล้ว ช่วงเก็บเกี่ยวผลิตผลต้องระมัดระวังไม่ให้ถั่วดำมีการปนเปื้อน และต้องตั้งความเร็วสำหรับเครื่องนวดถั่วให้เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดถั่วดำให้ดีที่สุด และที่สำคัญคือ การปลูกถั่วดำควรจะปลูกแบบหมุนเวียนกับพืชพันธุ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่องด้วยนะครับ เพียงเท่านี้เราก็สามารถทำราคาดีๆ จากพืชสีดำทะมึนนี้ได้แล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook