สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

นุ่น ปุยนุ่ม ๆ จากฝัก

นุ่นคือผลผลิตที่ได้จากต้นนุ่นหรือที่เรียกกันว่าต้นงิ้วในภาคเหนือและหลายพื้นที่ในภาคกลางก็ยังเรียกกันว่า งิ้วสร้อยและงิ้วสาย เป็นพืชที่มีเส้นใยที่ได้จากฝักเพื่อนำมาใช้เป็นไส้หมอนและไส้ที่นอน มีแหล่งปลูกเชิงพาณิชย์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราชและกาญจนบุรี เพื่อนำส่งขายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถสกัดน้ำมันจากเมล็ดที่ได้จากนุ่นใช้เป็นน้ำมันพืชเพื่อการปรุงอาหารได้ กากที่เหลือจากการสกัดน้ำมันสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกต่อหนึ่ง ส่วนเนื้อไม้นำไปใช้เป็นเยื่อกระดาษ ฝักอ่อนที่ยังไม่เกิดปุยด้านในฝักนำมาปรุงอาหารได้ เปลือกไม้จากลำต้นมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะและใช้รักษาอาการท้องร่วง เป็นต้น

ต้นนุ่นเป็นไม้ที่ลำต้นสูงชะลูด ลำต้นตรง มีความสูงราว 15-30 เมตร ผลัดใบช่วงปลายฤดูหนาวเมื่อเริ่มแล้ง ทรงพุ่มจะต่างกันไปตามแต่ละชนิด บ้างเป็นพุ่มแบบฉัตรตามลักษณะการแตกกิ่งแนวขนาน แตกกิ่งแต่ละช่วงราว 2-3 กิ่ง ส่วนต้นนุ่นที่แตกกิ่งเป็นมุมแคบและมีจำนวนกิ่งก้านสูงจะมีลักษณะทรงพุ่มหนาแน่นและให้ฝักจำนวนมาก ที่โคนต้นมีหนามแหลมและแข็ง ใบมีสีเขียว แตกดอกที่ซอกใบกระจุกตัวเป็นช่อประกอบด้วยดอกย่อยสีขาวเหลืองจำนวน 4-5 ดอก ให้ผลเป็นฝักที่มีเปลือกแข็ง ฝักยาวส่วนโคนและปลายฝักแหลม เมื่อฝักเริ่มแก่จะมีปุยนุ่มๆ สีขาวอยู่ด้านในปะปนไปด้วยเมล็ดสีดำจำนวนมากที่ถูกห่อหุ้มด้วยเส้นใยนุ่นนุ่มมือ โดยขนาดของฝักนั้นจะแบ่งออกเป็นฝักขนาดเล็กที่ความยาวของฝักไม่เกิน 15 เซนติเมตร ลักษณะฝักจะอวบอ้วน มีปุยนุ่นน้อย ด้านในฝักจะมีเปอร์เซ็นต์ของแกนไส้สูง ส่วนฝักขนาดกลางจะมีความยาวราว 15-25 เซนติเมตร ตัวฝักจะมีเปลือกที่บาง ให้ผลผลิตปุยนุ่นสีขาวได้มาก และต้นนุ่นที่ให้ฝักขนาดใหญ่กว่า 25 เซนติเมตรนั้นจะทำให้กิ่งไม่สามารถรับน้ำหนักฝักได้ กิ่งจึงหักได้ง่าย

นุ่น เป็นไม้ยืนต้นที่สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดและทนต่อความแห้งแล้งได้ โดยการปลูกนั้นให้ทำการเตรียมดินเหมือนการปลูกไม้ผลยืนต้นทั่วไป การขยายพันธุ์ทำได้โดยการเพาะเมล็ดและปักชำ โดยการเพาะเมล็ดจะใช้เวลารอย้ายลงปลูกนานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและเก็บเกี่ยวฝักได้หลังจากที่ปลูกถึง 3 ปี แต่หากเป็นการปักชำจะใช้เวลาก่อนย้ายลงปลูกเพียง 2-4 เดือนและให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ 1-2 ปีแรก ทำให้ส่วนใหญ่นิยมปักชำกันมากกว่าการเพาะเมล็ด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook