สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลาซิว ตัวจิ๋ว ส่งออกเจ๋ง

ปลาซิว เป็นคำที่เรามักจะได้ยินจากการนำมาเปรียบเปรยกับเรื่องเล็กๆ ว่าเป็นเรื่องปลาซิวปลาสร้อย จนอาจจะคิดไปว่าปลาซิวอาจจะดูไร้ราคาและไม่น่าสนใจ แต่ความเป็นจริงแล้วปลาซิวเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับทั้งไทยและตลาดต่างประเทศ  ด้วยความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยมากกว่า 20 สกุล ทำให้พบเห็นความหลากหลายทางชีวภาพของปลาชนิดนี้ บางชนิดนิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร แต่บางชนิดมีความงามของสีสันจนถูกนำไปเลี้ยงเป็นปลาตู้ที่สวยงาม จนตลาดต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก และที่รับความนิยมสูงสุด คือปลาซิวข้างขวานใหญ่และปลาซิวข้างขวานเล็กซึ่งเป็นปลาหายากจนเกือบจะสูญพันธุ์ ทำให้เกิดเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างงามและมีมูลค่าการส่งออกสูง

ปลาซิวข้างขวาน เป็นปลาที่มีลักษณะแบน ลำตัวมีสีสันสวยงาม ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแกมแดงผสมกับน้ำตาลแกมเขียว มีลายเส้นสีดำเหมือนรูปขวานกลางลำตัวพาดยาวไปถึงหาง ตัวผู้จะมีลำตัวเรียวยาวกว่าเพศเมียและมีสีสดใสงดงามกว่าเพศเมียด้วย มักพบในแหล่งน้ำจืดในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ด้วยความที่ตลาดยังต้องการปลาชนิดนี้สูง ปลาที่เคยหาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนน้อยลงอย่างมาก จึงเกิดการเพาะเลี้ยงขึ้นมา หากเพื่อนเกษตรกรท่านใดสนใจก็สามารถนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อส่งออกได้

วิธีการเลี้ยงนั้น เราต้องหาพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ โดยสังเกตจากเพศเมียว่าท้องปลามีความอวบแน่นอูมแสดงว่ามีไข่ ส่วนตัวผู้ให้เลือกจากสีสันที่สดชัดเจน แล้วนำมาเลี้ยงตู้ปลา ตู้ละ 4 ตัว แบ่งเป็นตัวเมีย 2 ตัว และตัวผู้ 2 ตัว จำนวนพ่อแม่พันธุ์ 1 คู่อาจจะให้ไข่ดกถึง 300-600 ฟองเลยครับ ขนาดของตู้ ควรมีขนาด 16*36*16 นิ้ว โดยจะต้องเตรียมไว้ 2 ตู้  ตู้แรกสำหรับพ่อแม่พันธุ์ให้ใช้ตะแกรงแบ่งตู้ออกเป็น 2 ฝั่ง เพื่อแยกพ่อแม่พันธุ์ปล่อยลงฝั่งละ 1 คู่ ในตู้ควรตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำและหินเกล็ด เพื่อให้ปลาวางไข่ วางระบบน้ำให้ไหลเวียนให้ดี ส่วนอีกตู้ให้ติดตั้งปั๊มเล็กๆ ไว้ เปิดปั๊มตลอดเวลาเพื่อให้น้ำไหลวนไปที่ตู้แรก แล้วเมื่อน้ำสูงในระดับหนึ่งให้ใช้วิธีกาลักน้ำ ดูดน้ำจากตู้แรกมายังตู้ที่สอง เพื่อให้ดูดลูกปลาไปไว้อีกตู้ ป้องกันพ่อแม่พันธุ์ปลากินลูกปลา เมื่อลูกปลามีอายุได้ 1 สัปดาห์ปากจะเปิด และเริ่มว่ายน้ำขึ้นมาอยู่บริเวณผิวน้ำได้แล้วจึงเริ่มเลี้ยงด้วยไรแดง จนกว่าจะมีขนาดตัวที่เจริญแล้วจึงย้ายไปลงที่บ่อซีเมนต์ต่อไปไม่เกิน 2 เดือนก็นำไปขายได้แล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook