สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การจัดการองค์ความรู้ และถอดบทเรียนเพื่อจัดทำคำแนะนำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันพบว่า ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดภายในประเทศ คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 8 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณการผลิตในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน ทำให้ต้องนำเข้าพืชวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำ “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา” เพื่อปรับสมดุลของปริมาณการผลิต การตลาดข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในปี 2560/61 ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาทดแทนข้าวนาปรัง เพื่อให้มีผลผลิตที่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 2 ล้านไร่ รวม 33 จังหวัด  (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2562)  นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงไปปลูกในพื้นที่นา ส่งผลให้เกษตรกรลดการเผาเศษซากพืชก่อนการเตรียมดิน ลดการชะล้างพังทลายของดิน ลดปัญหาดินโคลนถล่มบนพื้นที่ลาดชัน นอกจากนี้ยังช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเมื่อเทียบกับการทำนาปรัง ลดการเผาตอซังข้าว รวมทั้งประหยัดการใช้น้ำได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นคำแนะนำทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมหลังนาที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องของดิน สภาพภูมิอากาศ การจัดการ รวมถึงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในแต่ละแหล่งปลูก ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างแปรปรวน และศักยภาพการให้ผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงต่ำกว่าที่คาดว่าจะได้รับ และต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง  ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะได้

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อดำเนินการวิจัยในโครงการ “การจัดการองค์ความรู้ และถอดบทเรียนเพื่อจัดทำคำแนะนำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา” โดยมี นายสมชาย บุญประดับ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลการผลิต เพื่อจัดทำคำแนะนำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และการจัดการในพื้นที่ต่างๆ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

ผลสำเร็จของงานวิจัยจะมีส่วนในการช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มีคู่มือคำแนะนำการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และการจัดการของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำลง ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น และมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมทั้ง ทำให้มีปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงพอต่อการใช้บริโภคภายในประเทศ ไม่ต้องนำเข้าสินค้าอื่นๆ มาทดแทน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook