สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปั๊มชัก เครื่องสูบน้ำแบบลูกสูบชัก

ปั๊มน้ำในบ้านเรามีหลายประเภทให้เลือกทั้งปั๊มชัก ปั๊มหอยโข่ง ที่แต่ละชนิดจะมีความเหมาะสมกับหน้างานและวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่หน้าที่หลักๆ คือ ใช้เพื่อให้น้ำได้รับแรงดันมากขึ้น ก่อให้เกิดกระแสน้ำน้ำไหลที่คงที่และไปถึงยังปลายท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีทั้งแบบใช้น้ำมันและใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน แต่โดยส่วนใหญ่ที่เรามักนำมาใช้ในการเกษตรขนาดเล็กมักจะเป็นแบบมอเตอร์ไฟฟ้า

ปั๊มชัก จะมีลูกสูบทำหน้าที่ชักเคลื่อนที่ไปมาเพื่อให้น้ำเข้าและออกในขณะที่วาล์วปิด-เปิด เพิ่มแรงดันน้ำให้สูงขึ้น โดยอาศัยแรงอัดในกระบอกสูบโดยตรงเพื่อเพิ่มพลังงานให้น้ำไหลไปสู่ทางจ่ายในแนวเส้นตรง ปริมาตรน้ำที่สูบในแต่ละรอบจะคำนวณได้จากพื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบคูณด้วยช่วงชักของกระบอกสูบ  ตัวอย่างคือ  ปั๊มชักแบบขับดันโดยตรง ที่พัฒนามาจากเครื่องจักรไอน้ำ มีลูกสูบเดียวที่ดูดน้ำจากแหล่งสูบเพื่ออัดให้น้ำไปสู่ปลายทางแล้วดูดของเหลวต้นทางมาแทนที่ในจังหวะที่มีการอัดน้ำที่ปลายกระบอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากต้องการให้น้ำไหลสม่ำเสมอมากขึ้นจะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณของกระบอกสูบ หรือปั๊มน้ำเข้าไปในหม้อลมก่อนที่จ่ายเข้าสู่ระบบเพื่อให้อากาศช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลของน้ำที่สม่ำเสมอขึ้น

ในการตัดสินใจซื้อปั๊มชักหรือปั๊มใดๆ ก็ตามเพื่อนำมาใช้ในแปลงไร่นาของเราแต่ละครั้ง จะต้องมีความละเอียดรอบคอบและพิจารณาให้รอบด้านถึงงบประมาณและประโยชน์ใช้สอย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งค่าเดินสายไฟหรือติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และค่าดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่อง การเลือกเครื่องสูบน้ำต้องดูกันว่าแหล่งน้ำที่เราจะทำการปั๊มขึ้นมาใช้นั้นเป็นแหล่งน้ำประเภทไหนเป็นน้ำผิวดินหรือน้ำบาดาล โดยทั่วไปเราจะเลือกปั๊มชักจากความสามารถในการส่งน้ำจากแหล่งน้ำไปยังปลายจ่ายน้ำ ในเอกสารประกอบเกี่ยวกับสเปคเครื่องแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น จะแสดงข้อมูลต่างๆ ไว้ประกอบไปด้วย ขนาดท่อ แรงดึงน้ำ แรงส่งน้ำ ความเร็วรอบ กำลังแรงม้า และปริมาณน้ำไว้ ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบได้ง่าย แต่ในส่วนของคุณภาพของวัสดุภายในของเครื่องนั้น ก็เป็นส่วนที่เราต้องให้ความใส่ใจอย่างมาก ว่ามีคุณภาพดีและทนทาน เนื่องจากเมื่อใช้งานปั๊มชักจะเกิดการสึกหรอและอาจเกิดการเสียหายชำรุดได้ หากมีอะไหล่ที่หาซื้อได้ง่ายในพื้นที่ จะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงไม่มากตามไปด้วย เมื่อมั่นใจในคุณภาพและประโยชน์ใช้สอยแล้ว หลังการติดตั้งแล้วเราต้องใช้งานเครื่องอย่างถูกต้องตามคู่มือและรักษาดูแลอย่างดี เพื่อเครื่องมือชนิดนี้จะได้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook