สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักสาบ หรือผักอีนูน ไม้เถาแห่งป่า

ผักสาบที่พี่น้องทางอีสานรู้จักกันดีนั้นในภาคกลางเราเรียกว่าผักอีนูน เป็นพืชผักที่คนเดินป่าเรียกขานกันว่า เครือน้ำ เพราะเป็นพืชประเภทเถาวัลย์อยู่ในวงศ์เดียวกันกับเสาวรส สามารถนำส่วนของดอก ยอดอ่อนมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ทั้งทำแกงส้ม แกงเลียง หรือจะนำมารับประทานเคียงกับลาบและน้ำพริกทั้งแบบรับประทานสดๆ หรือจะนำมาลวกก่อนก็ได้หมด ส่วนผลอ่อนที่มีรสชาตขมเล็กน้อยนั้นมักจะนำไปลวกก่อนรับประทาน

นอกจากนี้ส่วนต่างๆ ของต้นผักสาบ หรือผักอีนูน นั้นยังมีสรรพคุณทางยาที่หมอพื้นบ้านนำมาใช้ประโยน์กัน ได้แก่ การนำเถามาต้มร่วมกับเถาผักฮ้วนหมู เพื่อบรรเทาทอาการปัสสาวะขัด ส่วนเครือที่นำไปผสมกับเครือดอกซ้อนน้อย เครือผักหวานบ้านและผลฝรั่งแช่ในน้ำสะอาดและนำไปดื่มจะช่วยปรับธาตุในร่างกายให้สมดุล ยอดอ่อนใช้บรรเทาอาการท้องร่วง บำรุงตับ รากของลำต้นใช้บำรุงโลหิตสำหรับแม่ลูกอ่อนที่เพิ่งผ่านการคลอดลูก และยังสามารถขับพิษไข้ได้ด้วย แต่เดิมคนโบราณเมื่อเข้าป่าแล้วไม่มีแหล่งน้ำ เมื่อเกิดอาการกระหายน้ำ จะมองหาพืชชนิดนี้เพื่อตัดเถารองรับน้ำมาดื่ม เนื่องจากเถาจะกักเก็บน้ำไว้ได้ดี แต่เมื่อถูกตัดเถาแล้วไม้ชนิดนี้จะค่อยๆ แห้งตายในที่สุด

ลักษณะของเถาผักสาบ หรือผักอีนูน จะเป็นเถาเลื้อยสีน้ำตาลแก่ ผวเปลือกของเถาไม่เรียบ บริเวณโคนต้นมีขนาดใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 3 เซนติเมตร เลื้อยไปได้ด้วยกาใช้มือเกาะที่แตกยอดได้ ยอดใบจะออกบริเวณเล็กๆ ที่มีสีเขียว โดยปลายเถาจะมีสีแดงอมม่วง ใบมีรูปทรงคล้ายใบโพธิ์ สีเขียว แผ่นใบหนา แตกดอกตามซอกใบเป็นช่อ ประกอบไปด้วยดอกย่อยสีเหลือง 3-10 ดอก หลังจากดอกบานเต็มที่จะให้ผลรูปทรงกลมมนคล้ายน้ำเต้า เมื่ออ่อนจะมีสีเขียวและจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้มเมื่อสุก

สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจจะนำผักป่าชนิดนี้มาปลูก อาจจะใช้วิธีเพาะเมล็ด ปักชำเถา หรือ แยกหน่อมาปลูก สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการปลูกไม้เลื้อยชนิดนี้ก็ คือ ค้างสำหรับให้ต้นพันเกี่ยวเจริญเติบโตได้ดี เพราะยิ่งมีพื้นที่มากก็จะได้ผลผลิตมากตามไปด้วย ขณะที่ในตลาดยังมีผลและยอดอ่อนของผักสาบ หรือ ผักอีนูนขายไม่เยอะ หากเราผลิตได้มากก็ยิ่งเป็นโอกาสอันดีเลยทีเดียว เมื่อปล่อยให้ผักได้เติบโตแตกยอด แตกตาดอก มีข้อใหม่เกิดขึ้น จนเกิดยอดยาวก็ทำการเก็บเกี่ยวยอดไปขาย ปล่อยให้ยอดที่โดนตัดแตกยอดใหม่ต่อไป เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลผลิดอกออกผลก็ได้ผลและดอกมาขายอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook