สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณอมิโลสต่ำและปานกลางที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดและการส่งออก พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกและการจัดการธาตุอาหาร (ปีที่ 2)

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสำคัญในอุตสาหกรรมข้าวของโลก ในปี 2560 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวในอันดับที่ 6 ของโลก คิดเป็น 3.9% ของการผลิตข้าวของโลก ขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกด้วยส่วนแบ่งการตลาด 24.3% รองจากอินเดียซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 25.7%  โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวขาวประมาณ 4.5-5.0 ล้านตันข้าวสาร/ปี มีตลาดส่งออกหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกเนื่องจากประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ มีต้นทุนการผลิตและราคาขายข้าวขาวที่ต่ำกว่า ทำให้ผลผลิตข้าวของประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบมากกว่าผลผลิตข้าวจากประเทศไทย

ปัจจุบัน ข้าวขาวพื้นนุ่มกำลังได้รับความนิยมในตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยผลิตข้าวชนิดนี้ได้เพียง 10% ของผลผลิตข้าวขาวทั้งหมดของประเทศ ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามที่พัฒนาพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ข้าวขาวเมล็ดยาวพันธุ์ 5141 และข้าว Nang Hua ตลาดในประเทศจีนถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับข้าวขาวพื้นนุ่ม เพราะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีความต้องการประมาณ 7-8 ล้านตัน/ปี ทำให้ประเทศเวียดนามที่ได้ส่งเสริมการปลูกข้าวขาวพื้นนุ่มมีความได้เปรียบในการส่งออกข้าวชนิดนี้และยังขายได้ราคาสูงกว่าข้าวขาวปกติ (ข้าวพื้นแข็ง)

การพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของตลาดและสร้างลักษณะพิเศษเฉพาะพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณอมิโลสต่ำ เช่น พันธุ์ กข21 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เหมาะสำหรับการปลูกในเขตนาชลประทานภาคกลางแต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากสีเปลือกหุ้มเมล็ดและเปลือกหนา ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของโรงสี พันธุ์ กข39 ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะบริเวณที่มีอากาศหนาว และพันธุ์ กข43  เป็นพันธุ์อายุสั้นที่เหมาะสำหรับการปลูกในภาคกลาง แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากผลผลิตต่ำ ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมให้มีการผลิตพันธุ์ กข43 มากขึ้น เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษทางโภชนาการ โดยมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงเหมาะสำหรับผลิตเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิ

ปัจจุบัน พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองจากกรมการข้าวที่มีคุณลักษณะตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคมีน้อยมากซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ เพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดโลกต้องการมากขึ้น โดยกรมการข้าวได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวดังกล่าวจำนวน 76 สายพันธุ์ แต่ยังขาดข้อมูลที่จะเสนอขอรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ ทั้งนี้ ตามระบบการเสนอขอรับรองต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดสอบผลผลิต, ความต้านทานต่อโรคและแมลง, เทคโนโลยีการผลิตและแหล่งผลิตที่เหมาะสม คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ ทางเคมี และคุณภาพการรับประทาน ตลอดจนข้อมูลพิเศษอื่นๆ เป็นองค์ประกอบ เพื่อเสนอขอรับรองพันธุ์

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากกรมการข้าวในโครงการ “การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณอมิโลสต่ำและปานกลางที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดและการส่งออก พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกและการจัดการธาตุอาหาร (ปีที่ 2)” โดยมี ดร.สุภาพร จันทร์บัวทอง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณอมิโลสปานกลางและต่ำ ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงและมีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมีและการบริโภคตรงตามความต้องการของเกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการโรงสี และผู้ส่งออก และศึกษาเทคโนโลยีการเพาะปลูกและการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวและสภาพพื้นที่ตามเขตศักยภาพการปลูกข้าว  เพื่อยกระดับการผลิตข้าวขาวของประเทศไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวที่มีตลาดรองรับในราคาที่สูงกว่าราคาทั่วไป ทำให้อาชีพเกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook