สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย

มันสำปะหลัง เป็นพืชที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เกิด แต่จะมีใครรู้บ้างว่า พืชชนิดนี้มีที่มาจากฝั่งอเมริกากลาง ละตินอเมริกา และอัฟริกาอันไกลโพ้น และเข้ามาในประเทศไทยเราเกือบ 100 ปีมาแล้ว เพราะเป็นพืชผลที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศอบอุ่น ไม่ทนต่อความหนาวเย็น ทนต่อความแห้งแล้งและชอบแสงแดดจ้า โดยประเทศไทยเราถือเป็นประเทศที่ผลิตมันสำปะหลังเพื่อการส่งออกที่สำคัญของโลก

มันสำปะหลังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือมันสำปะหลังชนิดหวาน ที่เรานำมารับประทานกันเป็นอาหาร ทั้ง เชื่อม นึ่ง และนำไปทอด ส่วนอีกชนิดคือมันสำปะหลังขมที่ใช้สำหรับผลิตเป็นอาหารสัตว์  โดยผลิตเป็นมันอัดเม็ดและมันเส้น ซึ่งปริมาณการปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยเรานั้น ส่วนใหญ่จะปลูกมันขม เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์เป็นหลัก

เราสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ตลอดทั้งปี แต่มักนิยมปลูกช่วงต้นฝน เพราะจะได้ผลผลิตสูง แต่หากทำเลของเพื่อนๆ เกษตรกรเป็นดินที่หยาบก็แนะนำให้ปลูกช่วงหน้าแล้งจะดีกว่านะครับ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นในดิน ไม่ให้มีปัญหาเรื่องรากเน่าตามมา การขยายพันธุ์ที่เราทำกันอยู่ก็คือการขายพันธุ์ด้วยท่อนพันธุ์ ไม่นิยมทำด้วยเมล็ด เพราะเก็บเมล็ดยาก และมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า

การเตรียมดินให้ไถพรวนลึก 30 เซนติเมตร 1-2 ครั้ง แล้วใช้ท่อนพันธุ์จากส่วนกลางต้นลงมาถึงโคนต้น ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 8 เดือน มีความยาว 30 เซนติเมตร โดยปลูกแบบเว้นระยะห่าง 1*1 เมตร โดนจะปักแบบตรง แบบเอียง หรือแบบแนวนอนก็ได้  ซึ่งการปลูกแนวนอนนั้นจะทำให้มันสำปะหลังงอกเร็วกว่า และหากมีต้นที่อ่อนแอหรือตายก็สามารถปลูกต้นเสริมได้เร็วขึ้น

แม้ว่ามันสำปะหลังจะเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง แต่ก็ต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากเพื่อทำการเสริมธาตุในดิน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่องกันหลายปี ต้องใช้ปุ๋ยปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องใส่ใจเรื่องความพร้อมของดิน หากเพื่อนเกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยพืชสดได้จะลดค่าใช้จ่ายได้มาก หรือจะปลูกพืชอื่นๆ เพื่อปรับปรุงดินหลังการเก็บเกี่ยวในแต่ละรุ่นด้วยยิ่งดีเลยครับ ตัวอย่างของพืชที่เรานิยมปลูกเพื่อเพิ่มธาตุในดิน เช่น ปอเทือง ถั่วเขียว หรือจะปลูกระหว่างแถวของมันสำปะหลังก็ได้ครับ

ส่วนของการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้แรงงานคนเพราะหาแรงงานค่อนข้างยาก เพื่อนเกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันมาใช้เครื่องจักรกลขุดพลิกหน้าดินเพื่อสลัดหัวมันจากดินเป็นหลัก แล้วจึงใช้แรงงานคนเดินตามเพื่อตัดหัวมันออกจากต้นใต้ดินเพื่อนำไปขายส่งต่อไปครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook