สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ยาฆ่าแมลง หยุดได้หยุด ใช้เท่าที่จำเป็น

ยาฆ่าแมลง หรือ สารกำจัดแมลงแบะศัตรูพืช ส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมีที่นำมาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อขจัดแมลงหรือระงับการเติบโตของเหล่าแมลงต่าง ๆ ยาฆ่าแมลง สามารถแยกเป็นประเภทได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามวัยของแมลงตั้งแต่ระยะวางไข่ไปจนถึงตัวเต็มวัย หรืออาจจะแบ่งจากวิธีการส่งผลกระทบต่อแมลง เช่น ยาฆ่าแมลงแบบให้แมลงกินแล้วตาย หรือสัมผัสแล้วตาย เป็นต้น แต่หากจะแบ่งตามองค์ประกอบด้านเคมีแล้ว เราสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ โดยมียาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่เพื่อนๆ เกษตรกรใช้กันเยอะสุด รองลงมาคือกลุ่มไพรีทรอยด์ นีโอนิโคตินอยด์ และคาร์บามเมต ตามลำดับ โดยทั่วไปยาฆ่าแมลงที่ใช้กันจะส่งผลต่อแมลงเมื่อแมลงไปสัมผัสกับโดยตรง เนื้อเยื่อของแมลงจะได้รับสารที่ดูดซึมไปแล้วเข้าไปยับยั้งกระบวนการทำงานที่มีผลต่อการมีชีวิตของแมลง แมลงที่อ่อนแอก็จะตายไป แต่มีแมลงที่มีปรับสภาพได้ มีความต้านทานยาฆ่าแมลงก็จะยังมีชีวิตรอด และเกิดการจดจำกลิ่น เมื่อมีการฉีดพ่นคราวต่อไป แมลงจดจำกลิ่นได้ ก็จะหลีกหนีไปในที่สุด

เมื่อแมลงมีการเรียนรู้และปรับสภาพให้ต้านทานยาฆ่าแมลงได้ ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของยาฆ่าแมลงไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและยังทำให้เกิดสารพิษตกค้างในสภาพแวดล้อมมากขึ้น ทำให้แมลงที่ไม่ใช่ศัตรูพืชในระบบนิเวศต้องตายไปจำนวนหนึ่ง น้ำและดินได้รับสารเคมี และหากยาฆ่าแมลงเหล่านั้นยังตกค้างอยู่บนผลผลิต ก็ย่อมจะทำให้ผู้บริโภคปลายทางได้รับสารปนเปื้อนเหล่านั้นด้วย ขณะเดียวกันสารฆ่าแมลงยังมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง ของผู้ทำการฉีดพ่นยาเหล่านั้น เพราะต้องรับละอองของยาฆ่าแมลงเมื่อมีการฉีดพ่น ดังนั้นการจะเลือกใช้ยาฆ่าแมลงนั้นจะต้องไตรตรองให้ถี่ถ้วน หากจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงจากเคมีสังเคราะห์ อาจจะต้องวางแผนเรื่องความถี่ในการฉีดพ่น

วิธีการกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเคมีนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด เช่น การเกษตรอินทรีย์ การเกษตรปลอดสารพิษ ที่ใช้ระบบนิเวศเข้ามาใช้ในแปลงเกษตร โดยการปล่อยให้ตัวเบียนตัวห้ำมากำจัดแมลงศัตรูพืชบางประเภท การใช้สารฆ่าแมลงจากน้ำหมักจากพืชหรือพืชผลทางการเกษตร และการปลูกพืชผสมผสานหมุนเวียนกันไป เพื่อให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืช ไม่ทำให้เป็นแหล่งอาหารเดิมๆ ของแมลง

สำหรับการดำเนินการกำจัดแมลงอย่างเร่งด่วนในกรณีที่เกิดการระบาดกะทันหัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงสังเคราะห์ เราจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้สารเคมีที่เหมาะกับแมลงแต่ละชนิดอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อจะได้ออกฤทธิ์ได้เร็วสุด และยับยั้งการแพร่กระจายของแมลงได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบในวงกว้างที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากการใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook