สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ระกำ ผลไม้หวานทรงเสน่ห์

ระกำเป็นผลไม้ที่หลาย ๆ คนต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี ระกำมีลักษณะคล้ายกับสละซึ่งเป็นผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยรสชาติที่หวานอมเปรี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของผลระกำนั้น จึงไม่แปลกที่สามารถดึงดูดใจผู้บริโภคได้อย่างมากมาย อีกทั้งหากได้ลองรับประทานไปแล้วยังทำให้รู้สึกสดชื่นอีกด้วย เพราะผลของระกำจะประกอบไปด้วยน้ำเยอะมาก ชาวบ้านจึงนิยมปลูกเยอะขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในจังหวัดตราดที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องของผลระกำเลยก็ว่าได้ครับ

ไม่เพียงแต่รสชาติของระกำจะอร่อยเท่านั้น แต่เรายังนิยมปลูกระกำเพราะมีประโยชน์ที่หลากหลายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำระกำไปทำเป็นอาหารทั้งของคาวและของหวาน  เช่น ใส่ปรุงรสในต้มยำและแกงแทนมะนาว หรือทำน้ำระกำ ระกำลอยแก้วเป็นของหวาน แถมยังสามารถเอาน้ำจากลำต้นของระกำไปผลิตเป็นน้ำมันได้ และยังนำลำต้นไปตัดเอาหนามออกเพื่อที่จะทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ภายในครัวเรือนได้อีกด้วยครับ

ระกำถือเป็นพืชที่เพื่อนๆ เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูก เพราะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างสม่ำเสมอราคาทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ30-50บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนผลผลิตของแต่ละฤดูกาลและพันธุ์ระกำแต่ละพันธุ์ด้วยครับ และตลาดระกำแปรรูปเองก็เริ่มขยายตัวมากขึ้น หากเราหันมาให้ความสำคัญกับการแปรรูประกำมากยิ่งขึ้นก็จะทำให้การเพาะปลูกระกำมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมได้ในอนาคต และเป็นผลดีกับเราเองได้ครับ

ต้นระกำมีลักษณะคล้ายต้นปาล์ม เป็นต้นไม้พุ่มต่ำ ลำต้นมีหนามขึ้นเต็มต้นใบยาวขึ้นสลับเรียงกันทั้งสองฝั่งมีสีเขียวตลอดทั้งใบ ผลของระกำมีสีแดงเต็มไปด้วยหนามปนสีน้ำตาล เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเห็นได้ชัด ผลคล้ายกับสละแต่จะมีเนื้อในที่สีเหลืองอมส้มกว่าสละครับ

โดยวิธีการปลูกนั้นสามารถปลูกได้โดยการเพาะเมล็ดและด้วยการแยกหน่อ แต่หากเป็นวิธีการเพาะเมล็ดแล้วผู้ปลูกเพียงแค่เตรียมดินไว้ให้พร้อม โดยนำดินผสมแกลบดำและปุ๋ยคอกในอัตราส่วนที่เท่ากัน ซึ่งการเพาะเมล็ดจะเริ่มจากการเพาะในถุงดำ ก่อนที่จะลงปลูกในแปลงเมื่อมีลำต้นแตกขึ้นมาแล้ว แปลงปลูกนั้นจะต้องเตรียมดินผสมปุ๋ยคอกไว้ให้เรียบร้อย ก่อนจะไถพรวนดินตากไว้ 7-10 วันและเอาต้นระกำปลูกลงดินโดยเว้นระยะต้นและระยะแถวพอประมาณ รอได้เวลาเก็บเกี่ยวก็นำกรรไกรไปตัดออกมาจากต้นแพ็คขาย หรืออาจจะนำไปแปรรูปเพื่อมูลค่าก็ได้นะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook