สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

วิธีกำจัดแมลงหวี่

การกำจัดแมลงหวี่นั้น มีด้วยกันหลายวิธี แต่ก่อนที่เราจะคุยเรื่องการกำจัด เราต้องทำความเข้าใจเรื่องของแมลงหวี่กันก่อนว่า แมลงหวี่นั้นเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตเพียง 14-20 วัน แต่สามารถวางไข่ได้ถึงครั้งละ 400 ฟอง ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

แมลงหวี่ที่เป็นศัตรูตัวร้ายของเพื่อน ๆ เกษตรกรเราก็คงหนีไม่พ้น แมลงหวี่ขาว ที่มักจะวางไข่สีเหลืองอ่อนไว้บริเวณใต้ใบพืช ไข่แมลงหวี่จะมีลักษณะรียาว เกาะอยู่อย่างเหนียวแน่นทีใบพืช ขนาดของไข่เล็กมากมีขนาดเพียง 0.18 มิลลิเมตร มีระยะของการวางไข่ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลายเป็นตัวอ่อน และเข้าสู่ระยะดักแด้ ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะยังไม่เข้าทำลายส่วนใดของพืช แต่เมื่อพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะเข้าทำลายพืชด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช และยังนำพาโรคพืชต่างๆ มาสู่พืชอีกด้วย โดยเฉพาะพืชอาศัยหลักอย่าง ยาสูบ มะเขือต่างๆ และพริก รวมไปถึงพืชอาศัยอื่นๆ เช่น มันเทศ ฝ้าย ผักชี กะเพรา เป็นต้น

เมื่อเรารู้จักแล้วว่าแมลงหวี่มีพัฒนาแต่ละช่วงอายุอย่างไรแล้ว จะทำให้เราหาวิธีการกำจัดแมลงหวี่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเราจะต้องใส่ใจตั้งแต่การปรับปรุงดิน การคัดเลือกพันธุ์พืชที่นำมาปลูกให้มีความทนทานต่อโรคและแมลง การป้องกันการระบาดซ้ำซากของแมลงหวี่โดยการปลูกพืชหมุนเวียนผสมผสาน การหมั่นเดินสำรวจพืชผลและสังเกตความผิดปกติของพืชอย่างสม่ำเสมอและวิธีการนำสมุนไพรธรรมชาติมาฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงหวี่

การใช้สมุนไพรธรรมชาติมากำจัดแมลงหวี่นั้นเป็นวิธีการที่ไม่สร้างปัญหาเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะแต่เดิมนั้นเพื่อนๆ เกษตรกรที่เคยใช้สารเคมีมากำจัดแมลงหวี่อาจพบการสะสมของสารพิษในพืชและในร่างกายของผู้ปลูกพืช โดยพืชสมุนไพรนั้นมีมากมายหลายสูตร ตั้งแต่การเลือกใช้ยาสูบที่มีกลิ่นแรงผสมน้ำฉีดพ่นบนใบพืชเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหวี่มาไข่ไว้ หรือจะใช้สมุนไพรอื่นๆ เช่น ดาวเรือง หรือกระเทียม ก็ได้ครับ อีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้กำจัดแมลงหวี่ขาวคือ การใช้เชื้อรา เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรียและเชื้อราพาซิโลมัยซิส ฉีดพ่นลงบนใบพืช ตั้งแต่ช่วงที่ปลายฤดูร้อน และหมั่นฉีดพ่นทุก 2 สัปดาห์ เพื่อทำลายวงจรการขยายพันธุ์ของแมลงหวี่ตั้งแต่ช่วงวางไข่ไปจนถึงช่วงเข้าทำลายพืช

นอกจากวิธีการพ่นสมุนไพรเพื่อกำจัดแมลงหวี่แล้ว เราควรนำตัวห้ำที่เป็นศัตรูธรรมชาติของแมลงหวี่ขาวมาปล่อยในแปลงเกษตร โดยแมลงตัวห้ำเหล่านั้นคือ ด้วงเต่าลาย แมงมุม และแมลงช้างปีกใส และอาจจะปล่อยตัวเบียน อย่างเช่นแตนเบียน และเชื้อราค่างๆ เพื่อให้เกิดการกำจัดโดยวิธีธรรมชาติอีกทางหนึ่งด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook