สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ชุมเห็ดเทศ สมุนไพรสารพัดประโยชน์

ชุมเห็ดเทศเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณเด่นคือการใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูก และยังเป็นยาใช้ภายนอก มีสรรพคุณช่วยต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากเกลื้อน จากข้อมูลกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำการใช้ประโยชน์สมุนไพรชุมเห็ดเทศ เฉพาะในส่วนของ ใบสด ใบตากแห้ง หรือสารสกัดจากใบเท่านั้น โดยในส่วนของดอก ลำต้น และ ราก นั้น ไม่ได้มีการระบุสรรพคุณเอาไว้ว่านำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง ซึ่งสอดคล้องกับท้องตลาดสมุนไพร ในปัจจุบัน ที่นิยมซื้อขายชุมเห็ดเทศในรูปของใบสด ใบตากแห้ง ผงบดจากใบตากแห้ง ยาผงแคปซูล ชาชงดื่มจากใบ  และ สารสกัดชนิดน้ำ ทารักษาโรคกลากเกลื้อนเท่านั้น

ซึ่งต่างจากข้อมูลทั่วๆไป ได้แสดงสรรพคุณของชุมเห็ดเทศ ในส่วน ดอก ลำต้น ราก เอาไว้อีกหลายอย่าง เช่น ถ่ายพยาธิ รักษาฝีหนอง แต่ไม่ได้บอกปริมาณการใช้และวิธีการใช้ที่แน่ชัดเอาไว้ นอกจากนี้ในเชิงเกษตรกรรมแล้ว ต้นชุมเห็ดเทศยังมีสารสกัดเข้มข้นที่ออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดี โดยเฉพาะมด แมลงวัน และยุง แต่สารสกัดนี้มีโอกาสเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ จึงทำให้ต้องถูกขึ้นบัญชีเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นวัตถุอันตราย ประเภทที่ 2 ร่วมกับพืชสมุนไพรอื่นๆ อีก 12 ชนิด ซึ่งหากใครนำสมุนไพรเหล่านี้มาแปรสภาพ หรือแม้แต่เอามาผสมในน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชจะต้องขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนนะครับ เพราะหากไม่แจ้งตามที่กฎหมายกำหนด ก็อาจถูกแจ้งความเอาผิดได้ เพราะมีทุกวันนี้มีสารวัตรเกษตรที่คอยออกตรวจตราพื้นที่ทางการเกษตรอยู่เสมอ

ในอดีตเราสามารถพบชุมเห็ดเทศกระจายอยู่ทั่วประเทศตามพื้นที่รกร้าง ตามที่สาธารณะที่ชุ่มชื้น ตามข้างทางที่มีคลองชลประทาน หรือมีแหล่งน้ำ เพราะชุมเห็ดเทศชอบขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ไม่ชอบที่ร่ม ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนแบบบ้านเรา ไม่ต้องดูแลก็เติบโตได้ เป็นไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร แตกกิ่งออกด้านข้างแนวขนานกับพื้น เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล มีใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบรูปไข่กลับ กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่ออยู่ตามซอกใบ ตามบริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง มีใบประดับสีน้ำตาลแกมเหลือง หุ้มดอกย่อย ผลเป็นฝัก มี 4 ครีบ เมล็ดแบน รูปสามเหลี่ยม

ปัจจุบันชุมเห็ดเทศตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ มีจำนวนลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเริ่มรู้จักมากขึ้นว่าเป็นสมุนไพรที่เก็บเอาใบไปขายได้ ดังนั้นหากท่านใดที่สนใจจะปลูกอาจจะต้องไปหาซื้อเมล็ดหรือซื้อต้นกล้าพันธุ์มาและเพาะพันธุ์เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาตามตำรับแพทย์แผนไทยต่างๆ ได้ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook