สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะตูมแขก…มะตูมซาอุ

มะตูมแขก พืชที่มีผลที่ให้กลิ่นคล้ายมะตูม แต่กลับมีใบคล้ายใบของต้นสะเดา จึงเป็นที่มาของื่อหลากหลายที่เกิดขึ้นมา เช่น สะเดามาเลย์และสะเดาบาเรนห์ หรือชื่อมะตูมซาอุ เป็นต้น ทั้งนี้คาดเดากันว่า พืชชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในไทย โดยกลุ่มคนไทยที่ไปทำงานในเขตตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบียและบาเรนห์ จึงมีชื่อตามประเทศที่คนไทยเราหิ้วมานั่นเองครับ ซึ่งพืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศบราซิล จึงมีชื่อภาษาอังกฤษที่คนทั่วไปเรียกว่า Brazilian pepper tree ตามถิ่นกำเนิด

แม้ว่ามะตูมแขกจะมีผลคล้ายมะตูมและใบคล้ายสะเดา แต่กลับไม่ใช่พืชในสกุลเดียวกันกับพืชทั้งสองชนิด แต่มะตูมแขกเป็นพืชวงศ์เดียวกับมะม่วง ที่มีลักษณะของลำต้นไม่ใหญ่มาก มีความสูงไม่เกิน 10 เมตร มีพุ่มใหญ่หนาแน่น แตกกิ่งก้านมาก มีใบขนาดเล็ก ขอบใบมีรอยหยักเป็นหนามสั้นๆ ใบอ่อนจะเป็นสีแดงแต่เมื่อแก่จะมีสีเขียว แตกดอกสีขาวครีมทั้งปี ดอกเป็นช่อรวงยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ให้ผลเป็นพวงช่อเหมือช่อพริกไทย เมื่อแก่มีสีเขียวแต่จะกลายเป็นสีแดงเข้มเมื่อผลแก่เต็มที่และลีบติดเมล็ดในที่สุด รสชาติเผ็ดร้อนคล้ายพริกไทยสด จึงมีอีกชื่อว่าพริกไทยชมพู เมื่อตากแห้งแล้วนำมาปรุงรสอาหารเพิ่มความหอมและเผ็ดร้อนได้อย่างดี

ยอดอ่อนของต้นมะตูมแขกที่มีความกรอบและมัน ถูกนำมาใช้เป็นผักสดแกล้มน้ำพริก ลาบ ยำ ขนมจีน เพราะมีฤทธิ์ทางสมุนไพรที่คนส่วนใหญ่รู้กันเป็นอย่างดีว่า ช่วยบำรุงหัวใจ ระบายท้อง เพราะมีไฟเบอร์สูง ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเราที่นำมาใช้เป็นสมุนไพร แต่ในแถบละตินอเมริกาก็ยังนำใบมะตูมแขกมาตากแห้งแล้วชงกับน้ำร้อนดื่มเพื่อขับประจำเดือน รักษาอาการรูมาตอยด์ หรือสูดดมเพื่อรักษาอาการคัดจมูกส่วนของเปลือกจากลำต้นและยางนั้นใช้เป็นยาระบายและขับปัสสาวะ น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดสามารถนำมาใช้ทาแผล เพื่อป้องกันอาการอักเสบ

แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการนำมะตูมแขกมาใช้เป็นสมุนไพร แต่ในตำราแพทย์แผนไทยกลับไม่พบบันทึกไว้ ทำให้มะตูมแขกยังคงเป็นที่นิยมในการรับประทานในแง่ของอาหารที่เป็นสมุนไพรไปในตัว มากกว่าที่จะนำมาใช้เพื่อการรักษาทางการแพทย์โดยเฉพาะ สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่อยากจะปลูกมะตูมแขกไว้ท้ายสวนสักต้นเพื่อไว้เก็บกินยอดอ่อน หรือนำผลแห้งมาปรุงอาหาร ก็สามารถปลูกได้ง่ายๆ ด้วยการปักชำกิ่ง ในแกลบดำ วางในที่แสงแดดไม่แรง หมั่นรดน้ำ ไม่ถึง 15 วัน ก็จะแตกราก เมื่อต้นกล้าตั้งตรง แข็งแรงดีก็ย้ายต้นกล้าลงแปลงได้เลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook