สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะเกลือ สมุนไพรสีนิล

มะเกลือ พืชสมุนไพรที่เราคุ้นชื่อเพราะเป็นพืชผลที่เรานำมาใช้ย้อมสีผ้าให้เป็นสีดำ ที่สีติดทนติดนาน แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้จักต้นมะเกลือหรือเคยเห็นต้นมะเกลือกัน ทั้งที่เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเราเอง เพราะมะเหลือนั้นจะเติบโตได้ดีในป่าลึก ใกล้ลำธาร ชอบความชุ่มชื้นสูง และด้วยผลสุกมีสีดำจึงไม่นิยมมาปลูกในบ้านเรือนกันนักเพราะถือว่าเป็นสีที่ไม่เป็นมงคล อีกทั้งรสชาติของผลมะเกลือนั้นฝาดมาก ทำให้สัตว์ไม่กินผลมะเกลือจึงไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ดีเหมือนผลไม้ชนิดอื่น

ทุกส่วนของต้นมะเกลือสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากการนำผลมาใช้ย้อมสีผ้าแล้ว ยังนำมาขัดเครื่องเรือนที่เป็นโลหะให้มันวาวขึ้น ส่วนผลสุกนำมาสระผมทำให้ผมดกและดำขึ้น เนื้อไม้สีดำนำมาผลิตและตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเป่า เครื่องสี หากนำมาซีกเล็กๆของเนื้อไม้ไปจุ่มไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำตาลสด จะช่วยคงความสดของน้ำตาลไว้ได้ ในกรณีที่จะผลิตน้ำตาลเมาก็เพียงนำเนื้อไม้มะเกลือไปโดนความร้อนจากเตาไฟจนสีผิวเหลือง แล้วแช่ลงในน้ำตาลสดก็จะเกิดการหมักตัวกลายเป็นน้ำตาลเมาไปเลยครับ ส่วนกิ่งแห้งของต้นมะเกลือก็นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มได้ครับ

สำหรับการนำไปใช้เป็นสมุนไพรที่โดดเด่นที่สุดคือเรื่องของการนำมาใช้เพื่อเป็นยาขับพยาธิหลายชนิด ทั้งพยาธิเส้นด้าย ตัวตืด ปากขอ และอื่นๆ โดยการนำผลมะเกลือประมาณ 5 ผลมาตากแดดไว้ให้แห้งแล้วบดให้ละเอียดแล้วชงกับน้ำอุ่นดื่ม ได้ผลดีไม่น้อย ส่วนใบมะเกลือใช้รักษาโรคดีซ่าน ขับปัสสาวะ บรรเทาริดสีดวง แก้ท้องเสีย และบังนำมาโขลกพอกบริเวณผิวหนังที่มีแผลอักเสบ เปลือกไม้และแก่นของลำต้น กระตุ้นให้เจริญอาหาร บรรเทาอาหารกรดในกระเพาะอาหารและฝีในช่องท้อง รากไม้นำมาต้มช่วยรักษาอาการหน้ามืด วิงเวียน ระงับอาการผะอืดผะอมได้ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องระมัดระวังในการใช้เพราะผลมะเกลือมีผลทำให้ประสาทตาพิการ อาจถึงตาบอดได้ และไม่ควรใช้กับเด็กและหญิงตั้งครรภ์นะครับ

ลักษณะลำต้นมะเกลือนั้นจะสูงชะลูดถึง 30 เมตร มีพุ่มไม้ใหญ่ เริ่มแตกกิ่งตอนปลายของยอด ผิวเปลือกไม้สำเทาเข้ม แต่เนื้อในของไม้สีดำขลับ ใบไม้เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว แต่จะเริ่มมีสีเข้มเมื่อแก่และกลายเป็นสีดำเมื่อร่วง แตกดอกเป็นช่อสีเหลืองนวล ให้ผลทรงกลม ผิวมัน เรียบ สีเขียว แต่จะเริ่มสีเข้มเรื่อยๆ เมื่อแก่ จนกลายเป็นผลสีดำในที่สุด  ในแต่ละปีจะให้ผลเพียงครั้งเดียวในช่วงที่อากาศหนาวเท่านั้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook