สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ส้มจี๊ด ไม้ผลรสชาติจี๊ดสมชื่อ

ส้มจี๊ด เป็นพืชสกุลส้ม มีผลขนาดเล็กทรงมนแป้น ที่พบเห็นได้ในบ้านเรา ทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ละบ้านนั้นปลูกไว้บริโภคผล ทั้งรับประทานผลสด และนำมาใช้ปรุงรสอาหารแทนมะนาว โดยส้มจี๊ดมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ส้มกิมจ๊อ แม้ว่าเราจะนำมารับประทานแต่ต้นส้มจี๊ดกลับถูกนำมาใช้เป็นไม้ประดับและใช้เป็นของขวัญให้กันเพื่อความเป็นมงคล เพราะต้นส้มจี๊ดเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและอุดมไปด้วยโภคทรัพย์ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนเราจะพบเห็นแต่ละอาคารนำต้นส้มจี๊ดมาประดับ เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่กันด้วย

ส้มจี๊ดถูกจัดเป็นส้มกลุ่มเดียวกับมะนาว แต่มีขนาดเล็กกว่ามะนาวมาก แต่มีเมล็ดน้อยกว่ามะนาวเกือบ 3 เท่า มีเปลือกสีเหลืองทองเข้ม ผิวหนา เรียบ เปลือกมีกลิ่นหอมและมีรสหวาน โดยใบของต้นส้มจี๊ดจะมีสารผลิตกลิ่นหอมอยู่ จึงเป็นที่มาของกลิ่นหอมเปรี้ยวดังกล่าว เนื้อผลมีรสเปรี้ยวมาก

ส้มจี๊ดเป็นพืชที่มีลักษณะลำต้นทรงพุ่ม เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก บริเวณลำต้นรวมถึงก้านใบจะมีหนามอยู่เล็กน้อย เป็นพืชต้นที่มีรากแก้วชอบอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นจึงขึ้นได้ดีในบ้านเราครับ วิธีการปลูกจะใช้วิธีเพาะชำกล้าไม้หรือการปักชำกิ่ง เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้ต้นส้มจี๊ดสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และยังได้พันธุ์ที่แข็งแรงด้วยครับ

การปลูกต้นส้มจี๊ดนั้นจะนิยมปลูกในฤดูฝนเพราะจะสามารถเติบโตได้ดีในหน้าฝน โดยเริ่มจากการเตรียมกล้าพันธุ์และพื้นที่ไว้สำหรับปลูก หากเป็นการปลูกลงแปลงให้ไถพรวนดินประมาณ 2 รอบและตากดินไว้อย่างน้อย 14 วัน ให้เริ่มจากการนำดินร่วนปนทรายมาผสมคลุกเคล้ากับปุ๋ยคอกในปริมาณที่เท่ากัน จากนั้นขุดหลุมให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร โดยเว้นระยะการปลูกระวังแถวและต้นประมาณ 30×30  เซนติเมตร นำกล้าที่เตรียมไว้ลงปลูกในหลุมที่รองก้นหลุมดินที่ผสมปุ๋ยคอ และค่อยๆ กรีดถุงที่ปกคลุมบริเวณรากของต้นกล้าส้มจี๊ดออก แล้ววางลงในหลุม กลบดินให้เรียบร้อย แล้วให้ใช้ไม้ปักค้ำไว้ พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้กับต้นส้มจี๊ด เพื่อกันลมกันโชกแรงจนต้นไม้ได้รับความเสียหายได้

วิธีดูแลก็เพียงแต่ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอประมาณ 2 ครั้งต่อวัน และหมั่นตัดแต่งกิ่งของต้นส้มจี๊ด และใส่ปุ๋ยตามเหมาะสม รอเวลาให้ได้ผลผลิต แล้วเก็บเกี่ยวไปขายได้เลยครับ แต่หากปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับก็จะได้ราคาเป็นกอบกำไม่น้อยเลยครับ ลองสำรวจตลาดในพื้นที่ดูนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook