สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ส้มเกลี้ยง กลมเกลี้ยงหวานซ่อนเปรี้ยว

ส้มเกลี้ยง เป็นผลไม้ในตระกูลส้ม ซึ่งเป็นส้มที่มีเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในละแวกอินเดีย ทางตอนใต้ของจีน และประเทศอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายู ถูกนำมาปลูกในประเทศไทยมาช้านาน เช่นเดียวกันกับส้มโอส้มเขียวหวาน ส้มเกลี้ยงสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม หลักๆ ได้แก่ กลุ่มส้มเกลี้ยงที่มีรสชาติหวาน คือ ส้มเช้งและส้มเกลี้ยง ซึ่งเป็นส้มเกลี้ยงที่ได้รับความนิยมนำมาปลูกมากที่สุดทั่วโลก และกลุ่มส้มเกลี้ยงที่มีรสชาติเปรี้ยวและขม ได้แก่ ส้มซ่า ที่แต่เดิมบ้านเรามักจะใช้เป็นต้นตอเพื่อทำการขยายพันธุ์ส้มเกลี้ยง เพราะต้นตอส้มซ่านั้นมีความทนทานต่อโรคพืชของส้มได้ดี

ส้มเกลี้ยงในประเทศไทยมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในอำเภอเถินและอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง โดยเริ่มมีการเพาะปลูกมานานหลายสิบปี ว่ากันว่ามีชาวจีนที่มาอาศัยในท้องที่ดังกล่าวนำมาปลูกตามที่ลุ่มแม่น้ำวังซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดลำปาง ที่มีอินทรียวัตถุไหลมาทับถมทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

ส้มเกลี้ยงเป็นพืชยืนต้นที่มีลำต้นสูงราว 7 เมตร มีหนามแข็ง แหลม เรียวยาวปกคลุมไปทั่วลำต้น ผลส้มมีมีเปลือกติดกับเนื้อผล ผลที่มีขนาดเล็กจะมีผิวเกลี้ยง เรียบ เนียน แต่ผลที่มีขนาดใหญ่จะมีผิวที่ขรุขระ พันธุ์ทางการค้าที่ผลิตในปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ทำให้มีผลขนาดใหญ่ขึ้น แตกต่างจากพันธุ์พื้นเมืองงที่มีผลเล็ก ลักษณะโดยทั่วไปของส้มเกลี้ยงนั้นจะมีน้ำหนักผลประมาณ 100-200 กรัม มีเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 4-7 เซนติเมตร ความยาวจากขั้วผลถึงปลายผลประมาณ 4-7 เซนติเมตรเช่นกัน ผลกลมมน สีเขียวแก่ และเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนเหลืองเมื่อผลเริ่มแก่ เปลือกผลมีความเหนียว หนา และมีรูน้ำมันขนาดเล็กปกคลุมเต็มผิวเปลือก ด้านในผลมีเยื่อบางๆสีขาว เนื้อในผลเป็นกลีบ เนื้อผลสีขาวเหลือง กลางผลด้านในมีไส้กลางผลแน่น เนื้อผลมีรสชาติหวานนำเปรี้ยวตาม มีค่าความหวานเฉลี่ย 9-10 องศาบริกซ์

การปลูกส้มเกลี้ยงนิยมปลูกด้วยการตอนกิ่งมากกว่าการติดตาหรือเสียบยอด ทำเลที่เหมาะแก่การเพาะปลูกควรระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำท่วมขัง ดินร่วนโปร่ง มีอินทรียวัตถุสูง มีแหล่งชลประทานเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นส้ม  เว้นระยะระหว่างต้นประมาณ 4 เมตร และให้แต่ละแถวห่างกัน 4 เมตร เมื่อทำการลงปลูกแล้วให้ยึดต้นกล้าติดไว้กับไม้ค้ำด้วยเชือกเพื่อให้ลำต้นตั้งตรงและไม่โยกคลอน รดน้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ควบคุมแมลงและโรคพืช ใช้เวลาราว 3 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook