สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หนอนกระทู้

หนอนกระทู้ คือ ตัวหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง มีความหลากหลายของแต่ละชนิดและสายพันธุ์ เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจทั้งพืชสวนและพืชไร่ เมื่อเกิดการระบาดขึ้นจะทำลายพืชผลกระจายเป็นพื้นที่กว้าง โดยมักเข้าทำลายพืชอาหารที่เป็นพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว มันสำปะหลัง เป็นต้น และยังทำลายพืชผัก เช่นผักในตระกูลกะหล่ำ ผักกาดขาว คะน้า มะเขือเทศ เป็นต้น  รวมไปถึงพืชดอก เช่น เบญจมาศ และเยอร์บีร่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชส่งออกที่สำคัญของไทยเราทั้งสิ้น

หนอนกระทู้นั้นเป็นแมลงศัตรูพืชที่ทำให้เกษตรกรทั่วโลกต้องเตรียมการป้องกันและรับมืออย่าหนัก เพราะเป็นแมลงที่สามารถเข้ามาจู่โจมพืชผลเราได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่า ร้อน แล้ง ฝน หรือหนาว ลักษณะของหนอนชนิดนี้ เป็นหนอนผีเสื้อที่มีปากแหลม แอบอาศัยพักพิงบริเวณใต้ใบพืชในช่วงกลางวัน และออกหากินและผสมพันธุ์ในช่วงกลางคืน ลำตัวตั้งแต่หัวถึงหางมีความยาวเพียง 0.2 เซนติเมตร มีปีก 2 คู่ มักวางไขที่ใต้ใบพืช ซึ่งตัวเมียแต่ละตัวจะวางไข่ได้ถึง 900 ฟอง ใช้เวลาเพียง 3 วันก็จะพัฒนาเป็นตัวอ่อนแล้วเริ่มกินใบพืช และเมื่อตัวอ่อนเริ่มโตขึ้น จะเริ่มขยายพื้นที่กระจายเข้าไปทำลายพืชผลทั่วไร่ทั่วสวน ยิ่งโตจะยิ่งกินจุ ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น

หนอนกลุ่มนี้ที่สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจทั่วโลกมากที่สุด มีด้วยกัน 4 ชนิดคือ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทูฝ้าย และหนอนกระทู้ข้าวโพด โดยในไทยเรานั้น หนอนกระทู้ผักและหนอนกระทู้หอม จะเข้าทำลายทั้งพริก หอม เมล่อน และมีการระบาดมาหลายครั้งทำให้เพื่อนๆ เกษตรกรต่างรู้วิธีการเตรียมการรับมือได้ แต่หนอนผีเสื้ออีก 2 ชนิดนั้น แม้จะไม่เคยระบาดรุนแรง แต่เราก็ควรทำความรู้จักไว้ เช่น หนอนข้าวโพด ที่อาศัยใต้ใบอันเรียวยาวของต้นข้าวโพด กัดกินตั้งแต่ยอดใบอ่อน เนื้อเยื่อ ลำต้น ฝักข้าวโพด สร้างความเสียหายอย่างมากตั้งแต่ระยะต้นอ่อนถึงระยะติดฝัก ซึ่งเราจะต้องมีความพร้อมในการป้องกันเสมอครับ

การป้องกันภัยจากแมลงศัตรูพืชเหล่านี้ เราจะต้องเริ่มติดตาม สำรวจดูด้วยตาเปล่าในทุกวันที่เราเข้าไร่เข้าสวน เมื่อพบขา ตัวอ่อน หรือแมลงเหล่านี้ เราต้องรีบฉีดพ่นสารกำจัดที่เป็นชีวภัณฑ์ในทันทีเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ เพื่อป้องกันการดื้อยาของหนอนกระทู้และยังเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของผู้ฉีดพ่น รวมไปถึงป้องกันไม่ให้มีสารเคมีเป็นพิษตกค้างในพืชผักที่เราจะส่งต่อไปยังมือของผู้บริโภคต่อไป แม้ว่าการใช้ชีวภัณฑ์อาจได้ผลไม่รวดเร็วทันใจ แต่ในระยะยาวส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมและต่อตลาดมากเลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook