สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หอมหัวใหญ่ เครื่องเทศประจำครัวเรือน

หอมหัวใหญ่เป็นพืชผักสวนครัวที่ต้องมีติดไว้ในเเทบทุกบ้านก็ว่าได้ และยังเป็นพืชที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก หลาย ๆ พื้นที่ได้เปลี่ยนจากการปลูกอ้อยในหน้าแล้ง มาปลูกหัวหอมใหญ่แทน เพราะหัวหอมใหญ่เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ดูแลง่าย เเละเติบโตเร็ว จึงทำให้เหมาะกับการปลูกในหน้าแล้งได้อย่างดี

โดยการปลูกหัวหอมใหญ่มีทั้งในเชิงพาณิชย์ และการปลูกไว้กินเองตามครัวเรือน นำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการผลิตและปรุงรสอาหารต่างๆ มีประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่ต้องการเครื่องเทศอย่างหัวหอมใหญ่เป็นอย่างมาก ทำให้ในอดีตประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกพืชผลผลิตภัณฑ์หอมหัวใหญ่ในภูมิภาค เรียกได้ว่าหัวหอมใหญ่นั้นเป็นเครื่องเทศที่จำเป็นในการปรุงรสเป็นอย่างมาก

การปลูกหัวหอมใหญ่​ในเชิงพาณิชย์​นั้นไม่ยาก เพียงแต่จะต้องหมั่นดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตหอมหัวใหญ่ที่สวยและน่ารับประทาน จะทำให้ได้ราคาดียิ่งขึ้น โดยการปลูกหอมหัวใหญ่ให้เริ่มจากการเพาะเมล็ดก่อน โดยใช้วิธีการเพาะเมล็ดลงในกระบะเพาะ จะช่วยให้การปลูกลงในแปลงปลูกสามารถ​เติบโตได้อย่างเต็มที่และก็สามารถ​ดูแลได้ง่ายกว่าวิธีการเพาะลงแปลงทีเดียวครับ ขั้นตอนแรกให้เตรียมดิน โดยการกำจัดวัชพืชออกจากดินที่เพาะกล้าให้หมดและนำดินผสมกับ แกลบ ปุ๋ยคอกคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นก็นำเมล็ดหว่านลงกระบะปลูกรอเวลาให้มีกล้างอกขึ้น จึงค่อยย้ายลงแปลง วิธีการเตรียมแปลงปลูก เริ่มจากย่อยดินให้ละเอียด และตากดินไว้ประมาณ ​14 วันเพื่อกำจัดวัชพืช พร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์​ลงไป ในอัตราปุ๋ยคอก 1,500-3,000​ กิโลกรัมต่อไร่  ซึ่งดินที่เหมาะสมในการปลูกหัวหอมใหญ่ที่สุด ก็คือ ดินร่วนนั่นเองครับ

ในการเพาะเมล็ดนั้น ให้เว้นระยะห่างประมาณ 10 เซนติเมตร โดยให้นำเมล็ดไปแช่น้ำไว้หนึ่งคืน เพื่อกระตุ้นการงอกก่อนนำเมล็ดมาหยอดลงปลูก โดยให้เว้นระยะห่างกัน 1-2 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เมล็ดพันธุ์แย่งอาหารกันและเบียดกันเกินไป จากนั้นก็ให้ดูแลรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงมากจนเกินไป ให้เราคลุมดินด้วยผ้าพลาสติก​หรือฟางข้าวก็ได้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน จนกระทั่งต้นกล้ามีอายุประมาณ 40-45 วัน ให้ย้ายลงแปลงปลูก

ในส่วนของแปลงปลูก ให้เตรียมดินเหมือนกับการเพาะกล้าต่างๆ ทุกประการ แต่ให้ปรับเปลี่ยนอัตราปุ๋ยคอกเป็น 2 ตันต่อไร่ และเปลี่ยนระยะห่างต่อแถวเป็น 15 เซนติเมตร​ แต่ละต้นห่างกัน 10 เซนติเมตร​ ต้นหัวหอมใหญ่ไม่จำเป็นต้องให้น้ำทุกวันก็ได้ สามารถรดน้ำวันเว้นวันสลับกันได้ในช่วงแรก และเมื่อต้นเจริญ​เติบโตเต็มที่ก็สามารถ​รดน้ำเว้นไป 3-5 วัน หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ใช้เวลาประมาณ 5 เดือนหลังจากวันเพาะเมล็ดก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยให้สังเกตที่สีใบต้นหอมเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล จึงเก็บเกี่ยวได้ ไม่ควรเก็บเกี่ยวตอนยังไม่แก่จัด เพราะจะทำให้หอมหัวใหญ่งอกรากได้ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook