สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หิ่งห้อย แมลงเรืองแสง

หิ่งห้อยแมลงเรืองแสงที่มีเรื่องเล่ามากมายให้ชวนรู้จักในวัยเด็ก เป็นแมลงปีกแข็งจำวกเดียวกับด้วง มีขนาดเล็กถึงปานกลาง  กระพริบแสงในยามค่ำคืน ความถี่ของการกระพริบบริเวณท้องด้านล่างของหิ่งห้อยนั้นแตกต่างกันตามชนิดของหิ่งห้อย ที่ปัจจุบันค้นพบแล้วมากกว่า 2,000 ชนิดทั่วโลก แต่หิ่งห้อยเพศผู้บางชนิดก็ไม่สามารถกระพริบแสงได้ หิ่งห้อยมีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ตามพงไม้ใบหญ้าและพบได้มากในแถบป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีน้ำเน่าเสีย  โดยเฉพาะบริเวณที่มีต้นลำพู และต้นจาก จะทำให้แมลงชนิดนี้เติบโตได้ดี เพราะมีอาหารให้หิ่งห้อยอย่างสมบูรณ์ หากมีอาหารไม่สมบูรณ์เพียงพอหิ่งห้อยจะไม่สามารถยังชีพได้ จนทำให้เราสามารถสังเกตได้ว่า ป่าชายเลนที่ใดที่มีหิ่งห้อยนั้น ย่อมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ จนปริมาณความหนาแน่นของหิ่งห้อยกลายเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนได้

หิ่งห้อยจัดว่าเป็นแมลงที่มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศ เพราะตัวหนอนหิ่งห้อยคือตัวห้ำที่เก่งกาจลำดับต้นๆ กินหอยเชอรี่ในไร่สวนเป็นอาหาร ช่วยกำจัดศัตรูพืชได้อย่างฉกาจทีเดียว จำนวนของหิ่งห้อยนั้นขึ้นอยู่กับภูมิอากาศในแต่ละฤดู เพราะยิ่งแห้งแล้งเท่าไร หิ่งห้อยก็มีโอกาสตายสูงเท่านั้น ดังนั้นเราจะพบเห็นหิ่งห้อยได้มากสุดในฤดูฝน เพราะความชุ่มชื้นและจำนวนอาหารตามธรรมชาติของหิ่งห้อยนั่นเองครับ ประโยชน์ของหิ่งห้อยนั้น นอกจากเป็นตัวห้ำแล้ว หิ่งห้อยยังมีโปรตีนลูซิเฟอรินที่เป็นโปรตีนเรืองแสง ที่นักตัดต่อพันธุกรรมสามารถนำยีนเรืองแสงนั้นมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้าไปท่องเที่ยวยังสถานที่ที่มีหิ่งห้อย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาที่สำคัญหลายแห่งทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชนและยังสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้แก่การทำการเกษตรในพื้นที่อีกด้วย

เพื่อนๆเกษตรกรบางท่าน ยังมีการเลี้ยงหิ่งห้อยเพื่อเป็นตัวห้ำในฟาร์ม ในสวน เพราะหิ่งห้อยนั้นชอบล่าหอยทาก หอยเชอรี่เป็นอาหาร ซึ่งหอยเหล่านี้มักเข้าทำลายผลผลิตของเกษตรกร จนทำให้พืชผลเสียหาย ขายไม่ได้ราคา การเลี้ยงหิ่งห้อยไว้ เพื่อให้ตัวอ่อนหิ่งห้อยกินหอยทากและแมลงศัตรูพืช จึงเป็นชีววิธีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีชนิดหนึ่ง โดยเลี้ยงหิ่งห้อยบก  ซึ่งสามารถกระพริบแสงได้ทั้งทุกระยะจั้งแต่ตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย ได้ทั้งระบบนิเวศและความสวยงามยามค่ำคืน

ขณะที่ปัจจุบันบริเวณป่าชายเลนกลับพบว่าหิ่งห้อยตามธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะแหล่งน้ำต่างๆ เสื่อมโทรมลงจากปัญหาของขยะที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมต่างๆ จนระบบนิเวศต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จนหิ่งห้อยไม่สามารถยังชีพได้ ทำให้ต้องมีการเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยส่งคืนกลับให้แก่ธรรมชาติเพื่อปรับให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะสมคืนมา โดยการเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยน้ำจืดที่สามารถเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยได้ในปริมาณสูง ด้วยต้นทุนที่น้อย โดยเลือกใช้อุปกรณ์การเพาะเลี้ยงที่มีในชุมชนมาใช้งาน จนสามารถผลิตหิ่งห้อยนำกลับคืนธรรมชาติได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook