สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ลักษณะ และคุณสมบัติของดินร่วน

เพื่อนๆ เกษตรกรทุกคนต่างทราบกันดีว่า ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ต่างๆ ได้ดีส่วนใหญ่จะต้องเป็นดินร่วนซุย มีเนื้อโปร่ง มีความชื้นพอเหมาะ มีอากาศถ่ายเทสะดวกและจะต้องระบายน้ำได้ดี เพื่อให้พืชพันธุ์ส่วนใหญ่ที่เราเพาะปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดี รากสามารถชอนไชกักเก็บน้ำและอาหารภายใต้ดินได้อย่างสะดวก และควรเป็นดินที่มีแร่ธาตุอาหารให้พืชสามารถดูดซึมนำไปใช้ในการผลิดอกออกผลได้ดีด้วย ดินร่วน จัดเป็นดินที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพันธุ์พืชส่วนใหญ่มากกว่าดินชนิดอื่น เพราะเป็นดินที่ไม่มีน้ำท่วมขังแฉะชื้นมากจนเกินไป ทั้งยังเป็นดินที่มีความชุ่มชื้นพอเหมาะ อย่างไรก็ตาม ดินที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ปลูกด้วย

คำว่าดินร่วนนั้น เรามักจะใช้เพื่อบ่งบอกถึงความละเอียดของเนื้อดินซึ่งดินแต่ละชนิดมีความหยาบแตกต่างกันไป ซึ่งความหยาบและความละเอียดของเนื้อดินนั้นจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการกักเก็บน้ำและธาตุอาหาร กลุ่มดินที่มีอนุภาคขนาดเล็ก ผิวเนื้อละเอียด ให้ความรู้สึกนุ่มเมื่อสัมผัส หากเนื้อดินแห้งจะสามารถจับตัวกันได้เล็กน้อย แต่หากมีความชื้นสูงจะจับตัวกันได้ดีขึ้นและยังคงความนุ่มเมื่อสัมผัส ดินชนิดนี้จะเป็นดินที่เราสามารถไถดินพรวนดินได้ง่าย ระบายน้ำได้ดี อาจจะเป็นดินร่วนล้วนๆ ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนดินเหนียว ก็ยังสามารถจัดอยู่ในกลุ่มของดินชนิดนี้ได้

นอกจากสภาพหรืออนุภาคของเนื้อดินแล้ว การที่เราจะเพาะปลูกพืชชนิดใดก็ตาม เราควรต้องศึกษาถึงโครงสร้างของดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอุ้มน้ำ การระบายอากาศ และโอกาสในการแตกรากของพืชที่เราจะทำการปลูก โดยดินที่มีความร่วนซุยสูง มีช่องอากาศเหมาะสมจะทำให้รากของต้นพืชสามารถแตกแขนงออกไปได้กว้างและหาอาหารได้ดีขึ้น

อินทรียวัตถุในดินถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจว่าดินในแปลงปลูกนั้นมีความร่วนซุยและมีธาตุอาหารของพืชเพียงใด  หากแปลงดินที่เราเลือกเป็นทำเลปลูกพืชมีอินทรียวัตถุไม่เพียงพอเราควรต้องมีการปรับปรุงดินให้มีความร่วนซุยและมีอินทรียวัตถุเหมาะสม เพื่อให้ดินมีความสามารถในการกักเก็บน้ำและธาตุอาหารได้ดียิ่งขึ้น เช่น การเติมปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ รวมไปถึงการปลูกพืชตระกูลถั่วซึ่งจะช่วยปรับสภาพให้ดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันวิธีการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินสามารถทำได้โดยการเก็บตัวอย่างดินมาทำการวิเคราะห์เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานและทำการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชที่เราต้องการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook