สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ดินเหนียว ใช้ปลูกข้าว ได้ผลผลิตดี

ดิน คือ ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ของการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะในการเพาะปลูกพืชไม่ว่าดินจะมีสภาพเป็น ดินเหนียว ดินร่วน หรือ ดินทราย ถ้าเป็นที่ดินของเราแล้ว เราก็ต้องยอมรับสภาพ และ หาทางใช้ประโยชน์จากที่ดินของเราให้มากที่สุด

บทความนี้ผมจะขอหยิบเอาเรื่องของ ดินเหนียว ขึ้นมา เพราะว่า ดินเหนียว เป็น เนื้อดิน ที่พบได้มากที่สุด ในพื้นที่การเกษตรของประเทศ เพราะบ้านเรามีพื้นที่นาข้าว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นดินเหนียวเกือบ 70 ล้านไร่  คิดเป็น 48% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดทั่วประเทศ

“เนื้อดิน” แบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ดินเหนียว ดินร่วน และ ดินทราย ซึ่งเนื้อดินเกิดจากการรวมตัวกันของตะกอนขนาดเล็กมากในดิน มีชื่อเรียกว่า อนุภาคดิน แบ่งได้ 3 ชนิด ตามขนาด คือ อนุภาคทราย มีขนาดใหญ่สุด อนุภาคทรายแป้ง ขนาดเล็กกว่าทราย และ อนุภาคดินเหนียวมีขนาดเล็กที่สุด เมื่ออนุภาคดินทั้ง 3 ชนิดรวมเข้าด้วยกัน จะเกิดเป็นเนื้อดินชนิดต่างๆ ตามสัดส่วนที่ผสมกัน เช่น เนื้อดินทราย จะมีอนุภาคทราย 80% อนุภาคทรายแป้ง10% อนุภาคดินเหนียว10% หรือ เนื้อดินร่วน ก็จะมีอนุภาคทราย 40% อนุภาคทรายแป้ง40% อนุภาคดินเหนียว 20%

ดินเหนียว จะมี อนุภาคดินเหนียว 60% อนุภาคทรายแป้ง 20% อนุภาคทราย 20% ทำให้ ดินเหนียวมีเนื้อดินละเอียดเล็กมากที่สุด เมื่อดินแห้งจึงแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก ถ้าได้รับน้ำหรือความชื้น ดินเหนียวจะจับตัวกันหนาแน่นแต่มีความยืดหยุ่น สามารถปั้นดินเป็นรูปทรงต่างๆได้

ดังนั้น พื้นที่เพาะปลูกในที่ลุ่มต่ำที่เป็นดินเหนียว จึงมักจะมีน้ำท่วมขัง หรือน้ำซึมลงดินได้ช้า การระบายน้ำและอากาศไม่ดีนัก แต่สะสมธาตุอาหารได้ดี จึงทำให้ดินเหนียวมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว เพราะเก็บน้ำได้นาน  รวมไปถึงพืชสวนชนิดอื่นที่ชอบน้ำ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง กล้วยน้ำว้า แต่หากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมขัง การปลูกไม้ผลในดินเหนียวควรมีการยกร่องขึ้น

เนื้อดิน มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของพืช และการให้ผลผลิต เพราะเนื้อดินมีผลต่อการระบายน้ำ อากาศ ซึ่งดินร่วนจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชที่สุด เพราะอุ้มน้ำได้ปานกลาง มีการระบายน้ำดีและมีอากาศถ่ายเท ส่วนดินทรายนั้น เนื้อจะหยาบอุ้มน้ำไม่ดี ดินจะแห้งง่าย และมีธาตุอาหารอยู่น้อย

ส่วนดินเหนียวนั้นแม้จะอุ้มน้ำได้มากและมีธาตุอาหารอยู่มาก แต่ก็มีข้อเสียที่การระบายน้ำไม่ดี มักจะมีน้ำขัง ทำให้มีอากาศไม่พอ ไม่เหมาะกับรากพืชบางชนิดในการหายใจ และ ยังไถพรวนลำบากเพราะเมื่อดินแห้งจะแข็งมาก และดินจะเหนียวจัดเมื่อเปียกชุ่มน้ำ

ดังนั้น ไม่ว่าพื้นที่เพาะปลูกของเราจะมีสภาพเนื้อดินแบบไหน ถ้าหากพืชเติบโตช้า ให้ผลผลิตได้น้อยเราควรหาทางตรวจสอบคุณสมบัติของดิน ให้รู้สาเหตุเพื่อใช้พิจารณาว่าระหว่าง ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสภาพเนื้อดิน หรือการเลือกเปลี่ยนไปปลูกพืชพันธุ์ชนิดอื่นที่เหมาะสม ต่อสภาพเนื้อดินให้มากที่สุด ทางเลือกไหนจะให้ความคุ้มค่ามากกว่ากันนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook