สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นบอน พืชที่ลุ่ม นุ่มอร่อย มีประโยชน์

ต้นบอน เป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในวงศ์บอน มีใบขนาดใหญ่มากจนมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Elephant Ear ส่วนในไทยเรานั้นก็เรียกขานกันแตกต่างไปตามท้องที่ เช่นในแถบเชียงรายและเชียงใหม่จะเรียกว่า ต้นตุนหรือต้นตูน จังหวัดอื่นๆ ทางเหนือเรียก บอนหอม ทางอีสานเรียก บอนจืด ทางใต้ เรียกบอนน้ำหรือบอนท่า และในแถบภาคกลางจะเรียกว่าบอนเขียวหรือบอนหวาน เป็นต้น จัดเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก ทั้งนำมาเป็นอาหารตั้งแต่ส่วนของหัวใต้ดินไปจนถึงใบ ส่วนของไหลที่อยู่ใต้ดินมักจะนำมาทำให้สุกด้วยการต้มกำจัดยางออกให้หมดแล้วนำไปรับประทานคู่กับน้ำพริก และก้านใบและใบอ่อนจะใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารประเภทแกง บ้างก็ลอกเอาเปลือกของก้านใบออกแล้วล้างให้สะอาดนำมารับประทานเป็นผักรับประทานคู่กับตำกระท้อนและตำส้มโอเข้ากันได้ดี นอกจากนี้ต้นบอนจะมีใบขนาดใหญ่ที่กันน้ำได้ดี สามารถใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ห่ออาหารได้ การปลูกต้นบอนตามแนวที่ลุ่มตลิ่งน้ำจะช่วยป้องกันการพังทลายของตลิ่งและการกัดเซาะหน้าดิน และในปัจจุบันต้นไม้ชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นไม้ประดับสวน

ต้นบอน เป็นพืชที่มีอายุมากปี มีหัวหรือเหง้าอยู่ในดินเป็นลักษณะทรงกระบอก ขึ้นเหนือดินเป็นกระจุกเรียงกันอยู่หนาแน่นตามริมแหล่งน้ำจืดที่มีดินอุดมสมบูรณ์ พบได้ทุกภาคในประเทศไทย เป็นพืชที่งอกเองตามธรรมชาติที่มีดินโคลน ลำต้นสูงราว 1 เมตร มีหัวขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางและรายรอบไปด้วยหัวขนาดเล็กๆ มีใบเดี่ยวแตกออกรอบลำต้น ใบใหญ่คล้ายลักษณะของหูช้างและคล้ายรูปหัวใจ โคนใบเว้าลงสู่กลางใบแหลม และปลายใบแหลม ส่วนกลางใบผายออก ก้านใบเชื่อมระหว่างกลางแผ่นใบเข้ากับลำต้น แผ่นใบมีไขเคลือบไว้ทั้งใบ กันน้ำได้ เป็นแหล่งที่สัตว์เล็กสัตว์น้อยมักมาอาศัยหลบตัวในยามที่ฝนตก จะมีใบ 7-9 ใบต่อกอ ก้านใบยาวเกือบจะถึง 1 เมตร

ต้นบอนจะออกดอกเป็นช่อ แทงขึ้นมาเป็นช่อเดี่ยวจากเหง้าใต้ดิน ดอกจะมีกาบดอกสีเหลืองอ่อนโอบที่โคนดอกไว้ ช่อดอกมรความยาวราว 25 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยที่เป็นดอกแยกเพศอยู่ร่วมกัน สังเกตได้ว่าดอกเพศผู้จะมีปลายยอดสีเหลือง ส่วนเพศเมียจะมีสีเขียวที่โคนดอก ดอกมีกลิ่นหอมละมุน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นผลบอนสีเขียว ภายในผลมีเมล็ด ส่วนของน้ำยางของบอนนั้นอาจจะเป็นพิษก่อให้เกิดอาการแพ้บริเวณผิวหนังเมื่อสัมผัส

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook