สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ศัตรูพืช เรื่องที่ต้องปราบ

ศัตรูพืช แค่ได้ยินคำนี้ เพื่อนๆ เกษตรกรทั้งหลายก็คงถอนหายใจตามๆ กันไป เพราะเป็นปัญหาที่น่าหนักอกหนักใจคู่กับการทำเกษตรกรรมมาตลอด ว่ากันว่าศัตรูพืชทำให้ผลผลิตที่เราได้จากการทำการเกษตรลดลงมากกว่า 25% แม้ว่าเราต่างหาวิธีการต่างๆ มาควบคุมและกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้แล้วก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดเป็นต้นทุนการผลิตที่ไม่น้อยกันเลย สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรมือใหม่นั้น อาจจะต้องทำความเข้าใจเรื่องราวของศัตรูพืชให้ถ่องแท้กันก่อนที่จำสามารถควบคุมและกำจัดได้อย่างถูกต้องนะครับ

ศัตรูพืชนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ โดยเป็นตัวก่อกวนให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเรา ได้แก่ แมลงศัตรูพืชที่เข้ามากัดกินใบพืชและแมลงที่เป็นกลุ่มหนอนชอนใบ ที่ทำลายใบพืชจนพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้หรืออาจจะทำให้พืชชะงักการเติบโตจนตายไปเลยก็ได้  และแมลงที่กินราก จนทำให้ต้นพืชยืนตายได้เพราะรากถูกทำลายจนไม่สามารถสะสมและลำเลียงน้ำและอาหารไปเลี้ยงพืชได้ และยังมีแมลงที่มาเจาะลำต้นและทำให้ต้นมีปุ่มปมซึ่งอาจทำให้พืชตายได้ ซึ่งแมลงเหล่านี้จะมีช่วงเข้าทำลายแตกต่างกันไปตามช่วงเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด

ศัตรูพืชประเภทต่อมาคือ โรคพืช ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของส่วนต่างๆของพืช ทั้ง ใบหงิก ใบด่าง ต้นแคระ  ที่เกิดได้จากทั้งไวรัส เชื้อราและไส้เดือนฝอย รวมไปถึงการขาดธาตุอาหารที่เหมาะสม ศัตรูประเภทถัดมาคือวัชพืช ที่คอยแย่งธาตุอาหารและพื้นที่การเพาะปลูกของพืชผล จนทำให้ต้นพืชได้ผลผลิตน้อยลง และยังมีกลุ่มไม้อิงอาศัยที่คอยแย่งอาหารของพืชด้วย และสุดท้ายคือศัตรูพืชชนิดๆ อื่นๆ ที่เราไม่สามารถจัดประเภทได้ ยกตัวอย่างเช่น หู นก ที่คอยมาจิกแทะต้นพืชหรือพืชผล เป็นต้น

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากศัตรูพืชนั้นมีปริมาณเม็ดเงินที่สูงมาก จนทำให้เพื่อนๆ เกษตรกรมืออาชีพต้องมีการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนการเริ่มลงมือปลูกผลผลิตในแต่ละฤดู โดยแต่ก่อนนั้นเราอาจจะพึ่งพาแต่สารเคมีเป็นหลักซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงมาก จนหลายครั้งแทบไม่เหลือกำไรจากการเพาะปลูกกันเลยทีเดียวครับ แต่เกษตรกรยุคใหม่สมัยนี้เริ่มตระหนักถึงปัญหาระยะยาวปละวิธีการแก้ปัญหาระยะยาว จึงหันมาใช้วิธีการทางชีวภาพและธรรมชาติในการกำจัดและป้องกันศัตรูพืช โดยนำเอาวัสดุตามธรรมชาติรอบตัวมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน มาปล่อยในแปลง เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช หรือการปลูกพืชเพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะสมเพื่อป้องกันโรคพืชและให้พืชได้ธาตุอาหารที่ดี ทำให้พืชแข็งแรงสามารถต้านทางศัตรูพืชต่างๆ ได้ดี ซึ่งวิธีธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและยังถนอมสุขภาพของตัวเราและผู้บริโภคอีกด้วยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook