สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เกษตรอินทรีย์ เพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน

คำว่าเกษตรอินทรีย์ ที่พบในเอกสารเผยแพร่เรื่องเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) ของกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ระบุว่า คือ “ระบบการเกษตรที่เน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์และนิเวศเกษตร เกษตรอินทรีย์จึงลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ขณะเดียวกัน ประยุกต์ใช้ธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาการต้านทานโรค” เรียกได้ว่านำกลไกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์กันอย่างเต็มที่ในการเพิ่มผลผลิตทั้งการเพาะปลูกและการปศุสัตว์

แนวคิดในการทำเกษตรอินทรีย์นั้น เน้นเรื่องการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ก่อให้เกิดความมั่นคงอาหารและความมั่นคงด้านการเกษตรอย่างแท้จริง

“เกษตรอินทรีย์ พลิกฟื้น วิถีเกษตรกรไทย” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึง หลักการ 4 ข้อในการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ครอบคลุมหลักการด้านสุขภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อ ดิน พืช สัตว์ มนุษย์และโลก เป็นการส่งต่อสุขภาพดีอย่างครบวงจร เริ่มจากการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดี ทำให้พืชผลเจริญสมบูรณ์ดีมีสุขภาพดี มนุษย์และสัตว์สามารถบริโภคแล้วเกิดสุขภาพที่ดีตามมา และไม่ก่อให้เกิดมลพิษใดๆ ที่กระทบต่อระบบนิเวศหรือโลกใบนี้ ดังนั้นกระบวนการผลิตทุกกระบวนการจึงไม่พึ่งพิงสารเคมีหรือยาเคมี ขณะเดียวกันจะต้องใส่ใจเรื่องของระบบนิเวศ โดยต้องมีการศึกษาและเข้าใจระบบนิเวศอย่างถ่องแท้เพื่อให้เกิดการวางแผนการผลิตและการเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสมกับระบบนิเวศ สอดคล้องกับสถานการณ์ วัฒนธรรมในชุมชน รวมถึงการเลือกใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสม เน้นการนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ เพื่อลดความสิ้นเปลืองทรัพยากรต่างๆ ทั้งพลังงาน แหล่งน้ำ และอาหารจากธรรมชาติ

นอกจากนี้การทำเกษตรอินทรีย์ยังต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมสำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ เกษตรกรไปจนถึงผู้บริโภค รวมถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม และต้องมีการพิจารณาถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเสมอ ท้ายที่สุด จะต้องมีมิติเรื่องการใส่ใจดูแลจัดการเกษตรในทุกกระบวนการ ให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่จะพลิกตัวเองมาทำเกษตรอินทรีย์ควรต้องทำความเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญในการทำการเกษตรอินทรีย์จะต้องมีที่ดินนการทำเกษตรเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี การผลิตจะต้องไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เมล็ดพันธุ์ที่นำมาใช้ในการเพาะปลูกปราศจากการสัมผัสสารเคมีสังเคราะห์ ไม่มีการตัดต่อพันธุกรรม ปุ๋ยมูลสัตว์ที่นำมาบำรุงดินต้องเป็นไปตามมาตรฐาน หากนำปัจจัยการผลิตภายนอกมาใช้ในฟาร์มต้องเป็นปัจจัยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วเท่านั้น ดังนั้นก่อนลงมือทำต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสมอ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook