สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

โรคเน่าคอดิน โรคพืชที่มาพร้อมฤดูหนาว

โรคเน่าคอดิน หนึ่งในโรคพืชที่ต้องเฝ้าระวัง ที่มาพร้อมกับฤดูหนาวและฤดูฝน เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นขึ้น และยังมีความชื้นสูงในแปลงปลูกต่างๆ ทำให้เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเน่าคอดินที่มักจะแพร่ระบาดได้ในพืชผักตระกูลผักกาดและกะหล่ำปลี เช่น ผักกาดขาว และผักกาดเขียว รวมทั้งผักคะน้า และผักกวางตุ้ง ดอกกะหล่ำ และกะหล่ำปลี ซึ่งพืชผักดังกล่าวจะมีลำต้นอวบอิ่มน้ำเหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของเชื้อราโรคเน่าคอดินมากกว่าพืชผักชนิดอื่น

โรคเน่าคอดินสามารถแพร่พันธุ์ได้ 2 แบบ ซึ่งแบบแรกจะแพร่พันธุ์ในเมล็ด เมื่อเมล็ดพืชที่นำมาเพาะปลูกมีเชื้อราของโรคเน่าคอดินในจำนวนมากจะทำให้เมล็ดดังกล่าวไม่เจริญเติบโตและไม่สามารถงอกเป็นต้นกล้าต้นใหม่ได้ ส่วนการแพร่กระจายในต้นพืชนั้น โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้จากลมและฝนที่พัดพาเชื้อราดังกล่าวเข้ามาในแปลงพืช เมื่อมีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และมีความชื้นในอากาศสูงทำให้เชื้อราแพร่กระจายติดต้นพืชในแปลงได้ เมื่อพืชติดโรคเน่าคอดิน จะสังเกตเห็นว่าบริเวณโคนพืชมีลักษณะช้ำน้ำ มีสีน้ำตาลก่อนที่จะเริ่มเน่าและลำต้นหักพับลง ทำให้พืชเหี่ยวและตายลงในที่สุด หากพบเจอโรคเน่าคอดินในแปลงเพาะปลูก เราควรที่จะรีบกำจัดโรคดังกล่าวออกจากแปลงปลูกโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจนอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตในแปลงปลูกเป็นจำนวนมากได้ครับ

ในขั้นตอนการเพาะเมล็ดนั้นควรปลูกในดินที่ปราศจากโรคพืช หรืออาจจะป้องกันดินไม่ให้มีโรคต่างๆ ติดมาด้วย โดยทำการไถพรวนดิน พลิกหน้าดินตากแดดไว้ 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะทำการปลูกเพื่อป้องการเชื้อโรครวมทั้งเชื้อราต่างๆ ที่เป็นแหล่งแพร่พันธุ์โรคพืช และควรเว้นระยะในการปลูกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระหว่างต้นพืชที่ปลูก หากปลูกพืชในฤดูฝนควรงดการรดน้ำพืชผักในแปลงเพื่อไม่ให้มีความชื้นอยู่ในแปลงผักมากจนเกินไปซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคเน่าคอดินจนทำให้ผลผลิตที่เราเฝ้าดูแลเกิดความเสียหายได้ครับ

ในแต่ละฤดูกาล แต่ละแหล่งปลูก เราควรจดบันทึกแมลงและโรคพืชไว้อย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้ทราบช่วงเวลาในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดผลกระทบต่อผลผลิต ซึ่งจะกระทบต่อผลประกอบการของเราด้วยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook