สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เครื่องหยอดข้าว ของมันต้องมี

เครื่องหยอดข้าว นับว่าเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อทดแทนแรงงานภาคเกษตรที่ลดน้อยลง ซึ่งปัจจุบันเครื่องจักรกลที่ถูกนำมาใช้เพื่อการปลูกข้าวนั้นมีหลายชนิด เช่น เครื่องปลูกข้าวนาดำ เครื่องปลูกข้าวนาหว่าน เครื่องหว่านหรือกระจายเมล็ด และเครื่องหยอดข้าวที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานแตกต่างกันไป

เครื่องหยอดข้าว จะทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวตามจำนวนที่เพื่อนๆ เกษตรกรกำหนดไว้ต่อหลุมอย่างสม่ำเสมอ ตามระยะห่างแต่ละแถวที่เราตั้งไว้ ตามแนวการขับเคลื่อนของเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ ทำให้การปลูกข้าวเป็นแถวเป็นแนวได้อย่างดี จนดูคล้ายการปักดำนา โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องปลูกข้าวจะใช้แรงเครื่องจักรประเภทอื่นเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนหรือลากจูงหรือเดินตามหรือยิงติดกับจานพรวนของรถแทรกเตอร์ โดยเราจะใช้เครื่องจักรกลชนิดนี้ในนาหว่านทั้งประเภทนาหว่านน้ำตมและนาหว่านข้าวแห้ง ซึ่งแต่ก่อนเราจะใช้แรงงานคนในการเพาะปลูกสูงมากเพราะต้องใช้คนเยอะ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเครื่องหยอดข้าวก็สามารถลดแรงงานคนลงได้เยอะ

นอกจากนี้การใช้เครื่องหยอดข้าวยังทำให้เรามีความสะดวกสบายในการคำนวณจำนวนเมล็ดพันธุ์ต่อพื้นที่แปลงปลูก ช่วยลดต้นทุนของเมล็ดพันธุ์ได้ดี ซึ่งในตลาดแล้วเครื่องหยอดข้าวทั่วไปจะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5-7 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเครื่องจักรกลชนิดนี้  เมื่อข้าวงอกแล้วเกิดการกระจายตัวได้เหมาะสมเมื่อเทียบกับการหว่านโดยคน ทำให้ต้นข้าวได้รับแสงเต็มที่ ลดปัญหาเรื่องแมลงศัตรูต่างๆ ได้ ได้ผลผลิตสูงขึ้น ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ราคาเครื่องจับต้องได้ และยังทำให้เราเพาะปลูกได้เร็วขึ้น

ในทางกลับกันแปลงนาที่จะใช้เครื่องหยอดข้าว จะต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมแปลงที่ดี ด้วยการปรับแปลงให้เรียบ เพื่อไล่น้ำออกจากนาให้หมด ป้องกันเมล็ดพันธุ์ลอยตามน้ำ และต้องใส่ใจในการกำจัดวัชพืช ในช่วงที่รอให้ข้าวผลิงอกก่อนจึงจะปล่อยน้ำเข้าแปลงได้

เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ในประเทศไทยเราส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนามาเพื่อให้เหมาะสมกับภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ และยังต้องคำนึงถึงพันธุ์ข้าวของแต่ละพื้นที่ มีขนาดแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เครื่องหยอดข้าวขนาดเล็กแบบใช้คนลากจูง เป็นเครื่องหยอดแบบพกพาง่าย น้ำหนักน้อย หรือจะเป็นเครื่องหยอดเม็ดพันธุ์ข้าวแบบนั่งโดยถูกลากจูงโดยรถไถเดินตาม ที่ทำงานได้เร็วขึ้นเพราะใช้เครื่องจักรกลในการขับเคลื่อน และยังมีอีกหลายประเภทที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเพื่อนๆ เกษตรกรเอง ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของรูปแบบ กำลังการผลิต และราคาต่างๆ ตามความต้องการของเพื่อนๆ เลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook