สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เครื่องอัดฟาง อัดฟางก้อนได้ง่าย ๆ

เครื่องอัดฟาง หนึ่งในเครื่องจักรกลการเกษตร ที่เข้ามาทำให้การบริหารจัดการเศษเหลือทิ้งจากการทำนาทำไร่ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นเมื่อเรามีการเกี่ยวนวดข้าวเสร็จ จะมีตอข้าวซังข้าวเหลือทิ้งกระจัดกระจายอยู่ในท้องนา โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าจะนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ทั้งเป็นอาหารสด อาหารแห้ง อาหารหมัก หรือจะนำมาไว้เป็นวัสดุคลุมดิน เพราะมีความยุ่งยากในการจัดเก็บและขนย้าย ดังนั้นพอใกล้จะถึงฤดูกาลถัดไป เราก็จะทำการเผาเศษฟางแห้งในนา เพื่อเตรียมการเพาะปลูกรุ่นใหม่ ทำให้เกิดฝุ่นควันในชั้นบรรยากาศ จนก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่มีผลต่อสุขภาพต่อมนุษย์เราอย่างมาก นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อดินในแปลงนาที่ถูกเผา ทำให้สูญเสียธาตุอาหารและจุลินทรีย์ต่างๆ ทำลายระบบนิเวศในแปลงนาในระยะยาว

เพื่อน ๆ เกษตรกรที่มีเศษฟางเหลือจำนวนมาก หากสามารถอัดฟางเป็นก้อนได้ นอกจากจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตรของตนเองแล้ว ยังสามารถนำไปขายต่อให้แก่ฟาร์มปศุสัตว์ต่างๆ ที่มีความต้องการหญ้าแห้งเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องต่างๆ เช่น โค กระบือ ม้า และแพะ ที่นับวันจะมีปริมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะโคนมและโคเนื้อ ที่กำลังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างมากจากทางหน่วยงานราชการ เพียงแค่นำเครื่องอัดฟางมาอัดฟ่อนฟางหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ และนำไปส่งต่อให้ลูกค้าก็สามารถสร้างรายได้แล้วครับ นอกจากนี้ยังสามารถนำเครื่องอัดฟางของเราไปรับจ้างอัดฟางให้แก่เพื่อนๆ เกษตรกรในละแวกใกล้เคียงที่ยังคงใช้การอัดฟางก้อนแบบวิถีชาวบ้าน คือ การบรรจุฟางลงในกระบะไม้แล้วเหยียบย่ำให้แน่นมากที่สุดแล้วมัดไว้เป็นก้อนๆ ซึ่งจะทำให้ฟางหลุดร่วงจากก้อนฟางได้ง่าย เก็บฟางไว้ได้ไม่นาน

สำหรับเครื่องอัดฟางที่พบเห็นในบ้านเรานั้น ส่วนใหญ่เพื่อนๆ เกษตรกรจะใช้กันอยู่ 2 แบบ คือเครื่องที่ต้องใช้แรงงานคนทำการลำเลียงฟางเข้าไปในเครื่องและทำการมัดก้อนฟาง ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่มีราคาไม่แพง ไม่มีกลไกซับซ้อน ทำให้ค่าบำรุงรักษาต่ำ แต่ต้องใช้แรงงานคนในการทำงานมาก ซึ่งเครื่องประเภทนี้เป็นเครื่องที่ส่วนใหญ่แล้วจะผลิตกันขึ้นมาภายในประเทศ ส่วนเครื่องอัดฟางอีกประเภทคือแบบอัตโนมัติ ที่จะใช้เครื่องยนต์เป็นต้นกำลัง เช่น แทรคเตอร์ โดยเครื่องสามารถเก็บกวาดรวมฟางในท้องนาผ่านระบบลำเลียงเข้าสู่กระบวนการบดอัดและมัดฟางด้วยระบบอัตโนมัติทั้งสิ้น โดยมีเพียงผู้ควบคุมระบบเพียงคนเดียวก็สามารถผลิตฟางก้อนได้อย่างรวดเร็ว แต่มีต้นทุนในการจัดหาที่ค่อนข้างสูง เพราะเครื่องอัดฟางประเภทนี้มักจะเป็นเครื่องที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่หากเรามีการวางแผนในการสร้างรายได้จากก้อนฟางไว้อย่างดีแล้ว ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook