สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เพกา ผักพื้นบ้าน ของดีแค่เอื้อม

เพกา หรือลิ้นฟ้า เป็นสมุนไพรและผักพื้นบ้านที่คนไทยทานกันมาแต่โบราณ โดยการนำฝักอ่อน ยอดอ่อนหรือดอกมาปรุงให้สุก กินคู่กับน้ำพริกหรือกินกับอาหารพื้นบ้านรสจัดจ้านของภูมิภาคต่างๆ แล้วยังนำไปต้ม ยำ ทำแกง ผัด ดอง ได้อีกสารพัด ซึ่งเมื่อปรุงสุกแล้วจะยังมีรสขมเล็กน้อย แต่กลับช่วยทำให้รสชาติของอาหารลงตัวและยังให้คุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย แต่สำหรับเด็กสมัยใหม่อาจจะไม่ชอบกินหรืออาจไม่รู้จักเพราะฝักเพกามีรูปร่างหน้าตาที่ดูไม่น่ากิน เป็นฝักยาวๆแบนๆใหญ่ๆ สีเขียวคล้ำๆ และมีแต่รสขม จึงทำให้มีแต่คนในวัยกลางคนขึ้นไปเท่านั้นที่ยังนิยมกินอยู่บ้าง แต่คนรุ่นใหม่นั้นไม่ชอบกินกัน ทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมา ต้นเพกาในภูมิภาคต่างๆ ก็ทยอยลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ เพราะคนไม่ได้ใส่ใจ

แต่ปัจจุบันด้วยกระแสรักสุขภาพและใส่ใจในเรื่องอาหารการกินที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพรที่ได้ชื่อว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระหรือช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ ก็จะยิ่งเป็นที่นิยมมากและทำให้พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านหลายๆชนิดที่คนลืมๆกันไปแล้ว ก็เริ่มมีคนเสาะหามาปรุงอาหารและปลูกกัน ซึ่งเพกาเองก็กลับมาเป็นที่นิยมปลูกและนิยมทานด้วยเช่นกัน เพราะมีสรรพคุณที่ดีอยู่มากมาย จึงทำให้ฝักอ่อนเพกามีราคาดีขึ้นมา ถ้าฝักงามๆ ฝักหนึ่งก็อาจมีราคาถึง 20 บาท

ต้นเพกาในบ้านเราแต่เดิมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีลำต้นเล็ก แต่สูงได้ถึง 15 เมตร ส่วนกิ่ง ก้าน ใบ ดอก และฝักออกอยู่ตามปลายยอด เป็นทรงพุ่มเล็ก มีใบเลี้ยงเดี่ยว โคนใบโค้งมน ปลายใบแหลมเป็นรูปจงอยปากนก ใบกว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกยาวได้มากถึง 180เซนติเมตร ออกช่อดอกที่บริเวณส่วนปลาย เมื่อดอกบานจะมีสีม่วง ดอกรูปร่างคล้ายแตร โดยดอกจะบานในตอนกลางคืนถึงรุ่งเช้า และร่วงในช่วงสายๆ ส่วนผลก็เป็นฝักยาวๆ แบนๆ รูปร่างคล้ายดาบของชาวจีน กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 45-120 เซนติเมตร ฝักหนา นิยมกินแต่ฝักอ่อนสีเขียวสด ฝักที่แก่เต็มที่จะแห้งเป็นสีดำ และปริแตกเป็น 2 ซีก โดยด้านในจะมีเมล็ดอัดแน่นกันอยู่มาก แต่ละเมล็ดจะมีเยื่อหุ้มบางๆสีขาว ส่วนการเก็บฝักอ่อนมาทานนั้นทำได้ลำบาก เพราะฝักออกอยู่สูงบางครั้งก็มากกว่า 10 เมตร

ปัจจุบันบ้านเรากำลังนิยมปลูกต้นเพกากันมาก แต่เป็นเพกาต้นเตี้ยซึ่งปลูกอยู่มากทางภาคอีสานเกษตรกรที่ปลูกบางคนบอกว่าเป็นการตัดยอด แล้วนำกิ่งมาเสียบยอดเพื่อคุมไม่ให้สูง จะได้เก็บฝักง่าย และ ช่วยให้ฝักดก บางข้อมูลบอกว่าเป็นพันธุ์เตี้ยมาจากประเทศลาว บางข้อมูลบอกว่ากลายพันธุ์จากเพาะเมล็ด แต่ข้อมูลก็ยังไม่แน่ชัดนัก ส่วนวิธีขยายพันธุ์นิยมปักชำราก เพื่อรักษาพันธุ์เตี้ย ซึ่งท่อนพันธุ์หรือต้นกล้าพันธุ์ของเพกาต้นเตี้ยก็สามารถสั่งซื้อได้ง่าย และมีขายอยู่ทั่วไปครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook