สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

แมลงดานา อาหารชั้นดี

แมลงดานาหรือแมงดานาที่พวกเรามักจะเรียกขานกันเช่นนั้น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Giant water bug เป็นแมลงรับประทานได้ (Edible insect) ที่ตลาดเริ่มขยายตัวใหญ่ขึ้น มีตลาดรองรับที่กว้างขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ลำพังในประเทศไทยเรานั้นยังมีการนำเข้าแมลงเหล่านี้จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก หากเพื่อนๆเกษตรกรสนใจจะยึดอาชีพเลี้ยงแมลงดานาก็คงจะต้องลงรายละเอียดกันให้ลึกซึ้งกันทีเดียว  โดยทั่วไปในตลาดบ้านเราจะชื่นชอบแมลงดานาตัวผู้มากกว่าตัวเมีย เพราะมีกลิ่นที่แรงกว่า เหมาะที่จะนำไปประกอบอาหารเป็นเมนูน้ำพริกต่างๆ และในแง่ของอุตสาหกรรมอาหารได้มีการนำกลิ่นแมลงดานามาใช้ปรุงกลิ่นในอาหารต่างๆ ด้วย

แมลงดานา เป็น มวน (True bugs) ที่มีลำตัวขนาดใหญ่ที่สุดในมวนทั้งหมด ดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งตามธรรมชาติ ตัวเจริญวัยสมบูรณ์มีขนาดราว 3 นิ้ว ตัวเมียจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าตัวผู้ ราว 10-15 มิลลิเมตร ลำตัวของมวนชนิดนี้จะมีลักษณะทรงไข่ ตัวยาว ส่วนท้องและหลังแบน หัวสีน้ำตาลเข้ม มีปีกสีน้ำตาลดำ ขอบของปีกมีสีน้ำตาลอ่อน มีขนปกคลุมทั่วทั้งขา ปากเป็นท่อยาว มีหนามแหลมยาวบริเวณปลายปากเพื่อใช้เจาะดูดสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นเหยื่อ เพื่อดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อ บริเวณท้องจะมีระยางค์ใช้หายใจและดูดเพื่อกักเก็บออกซิเจนเหนือน้ำ มักออกล่าเหยื่อในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนจะบินไปอาศัยนอกแหล่งน้ำแล้วบินกลับมาใหม่ในยามเช้า

แต่เดิมนั้นเราจะจับแมลงดานาจากธรรมชาติ ดังนั้นจะจับได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติจะอำนวยหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกจะจับได้น้อย แต่บางช่วงก็สามารถจับได้เยอะทำให้ราคาซื้อหาในท้องตลาดมีความผันผวน วิธีการล่อแมงดานา คือ การเปิดไฟที่มีหลอดแสงสีม่วงหลังพระอาทิตย์ตกเพื่อล่อให้บินมาแล้วตกลงในกะละมังขนาดใหญ่ที่เราใส่น้ำดักไว้  ช่วงไหนจับได้เยอะและดูว่ามีแนวโน้มราคาจะไม่ดี เพราะมีคู่แข่งเยอะ เรายังสามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกแมงดา แมงดาดองน้ำปลาและแมลงดานานึ่ง ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้นและเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์  โดยมีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่ในปัจจุบัน เราสามารถเลี้ยงแมลงดานากันได้แบบไม่ยุ่งยาก โดยแต่ละฟาร์มก็จะมีเทคนิคในการเลี้ยงแตกต่างกันไป โดยผู้ที่สนใจเลี้ยงจะต้องคำนึงถึงต้นทุนและผลประกอบการที่คาดว่าจะได้รับอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจนำมาเลี้ยง ทั้งนี้หากเป็นไปได้อาจจะเริ่มเลี้ยงจำนวนไม่มากเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจก่อนที่จะลงมือและลงทุนขยายเป็นฟาร์มใหญ่ เมื่อมีความชำนาญและเข้าใจทั้งพฤติกรรมของแมลงและตลาดดีขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook