สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

คุณภาพและความปลอดภัยของแมลงในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันความนิยมในการบริโภคแมลงในประเทศไทยได้มีความแพร่หลายมากขึ้น พบเห็นตำรับอาหารที่ใช้แมลงเป็นวัตถุดิบมากขึ้น  เช่น การเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกหรือแกงต่างๆ นอกจากนี้ การรับประทานแมลงทอดยังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากร้านค้าหรือแผงลอยที่มีการจำหน่ายแมลงทอดทั้งในตลาดและตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงการมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า การจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยมีการจำหน่ายในรูปแมลงทอดบรรจุถุงสุญญากาศหรือแมลงทอดบรรจุกระป๋อง ซึ่งการบริโภคแมลงที่กินได้นั้นมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์และไม่ก่อให้เกิดโรค ด้วยเหตุนี้เองทำให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO ได้ออกรายงานสนับสนุนให้ประชาชนทั่วโลกหันมาบริโภคแมลงให้มากขึ้นเพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต โดยระบุว่า แมลงเป็นแหล่งอาหารไขมันต่ำและมีโปรตีน-ไฟเบอร์สูงเหมาะสมต่อการนำมาบริโภค และถือเป็นทางเลือกใหม่เพื่อบรรเทาความอดอยากหิวโหยที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เนื่องจากการทำฟาร์มเลี้ยงแมลงเป็นเรื่องง่ายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ต้องการเนื้อที่ขนาดใหญ่และไม่ต้องการน้ำและอาหารเลี้ยงจำนวนมากเหมือนการเลี้ยงปศุสัตว์ ไม่มีการผลิต Greenhouse Gas และมีระยะเวลาการเลี้ยงสั้น

อย่างไรก็ตามจากรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขยังพบรายงานการระบาดวิทยาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานแมลงทอด จากสถานการณ์ข้างต้นสะท้อนว่า การสนับสนุนให้แมลงอาหารของไทยให้เป็นอาหารเพื่อความมั่นคง (Food security) มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจาก ความรู้ความเข้าใจ หรือ มาตรฐานการจำหน่ายแมลงทอด ข้อมูลเกี่ยวกับระดับการปนเปื้อนของสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารก่อภูมิแพ้ ยาฆ่าแมลง รวมถึงความปลอดภัยในการบริโภคแมลงยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าบริโภคแมลง

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผศ.ดร. วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าโครงการ “คุณภาพและความปลอดภัยของแมลงในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน” เพื่อศึกษาสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ การปนเปื้อนจากสารเคมี โลหะหนัก หรือ จุลินทรีย์ ซึ่งก่อให้เกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) รวมถึงโอกาสที่จะมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็ง (Carcinogens) ที่อาจก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว รวมถึงแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์แมลงทอดโดยการพัฒนาน้ำมันที่ใช้ทอดแมลงเพื่อลดการสะสมของสารก่อมะเร็งระหว่างการทอด

ผลจากการวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยที่เป็นปัจจุบันของการบริโภคแมลง ด้านการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็ง การปนเปื้อนของสารฮีสตามีนซึ่งเป็นสารก่อโรคภูมิแพ้ การปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก การปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ ในผลิตภัณฑ์แมลงทอดที่จำหน่ายในท้องตลาด ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการบริโภคแมลงเพื่อเป็นแหล่งอาหารเพิ่มเติม รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันแมลงเป็นอาหารเพื่อความมั่นคง (Food security) ตลอดจนได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันต้นแบบเพื่อลดการเกิดของสารก่อมะเร็ง โดยผลงานวิจัยนี้สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงสุขลักษณะ การแปรรูปและ การจำหน่าย รวมถึงข้อมูลด้านสุขลักษณะของผู้จำหน่ายและผู้แปรรูปอาหาร ขณะเดียวกันเมื่อได้ข้อมูลความปลอดภัยในการบริโภคแล้ว รัฐบาลสามารถออกนโยบายส่งเสริมการบริโภค และ การให้ความรู้และข้อมูลของความปลอดภัยในการบริโภคแมลงในภาคต่างๆ รวมไปถึงส่งเสริมการบริโภคของแมลงทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข อนามัยจังหวัด สามารถให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความปลอดภัยของการบริโภคแมลงทอด และวิธีการเพิ่มความปลอดภัยในขั้นตอนการเตรียมให้แก่พ่อค้าแม่ค้าอีกด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้รับนี้ หากออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจนจะส่งผลต่อ ความนิยมในการบริโภคแมลง รวมไปถึงการใช้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนและปลอดภัยอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook