เพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่มีสภาพดิน ฟ้า อากาศ ภูมิประเทศที่เหมาะสมกับธรรมชาติของการเจริญเติบโตของต้นมะขามหวานมากที่สุด ทำให้หลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ สามารถปลูกมะขามหวานแล้ว ได้ผลผลิตดี และมีคุณภาพมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้ในสมัยก่อนเกษตรกรในท้องถิ่นต่างพากันหันมาปลูกมะขามหวานกันมาก ในเกือบจะทุกอำเภอ และได้ทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์ กลายเป็นศูนย์กลางในการปลูก การค้าขาย การส่งออก การแปรรูป รวมถึงยังเป็นแหล่งกำเนิดของมะขามหวานสายพันธุ์ต่างๆ ที่ได้ชื่อว่า ดีที่สุดในประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยจะปลูก มะขามหวาน ที่มีคุณภาพดีเหมือนที่เพชรบูรณ์ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ผลผลิตในจังหวัดเพชรบูรณ์เอง ก็มีไม่พอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ต้องมีการปลูกมะขามหวานกระจายกันออกไปในหลายจังหวัด ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง แต่ทุกจังหวัดก็ยังคงใช้สายพันธุ์มะขามหวานจากเพชรบูรณ์เป็นหลักในการปลูก โดยผลผลิตที่ได้จะมีพ่อค้ามารับซื้อแบบเหมาสวน ซึ่งก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างที่จะถูกกดราคาได้ในบางปี
มะขามหวาน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นสูง10-12 เมตร มีทรงพุ่มกลมขนาดใหญ่ หนาทึบ เติบโตได้ในดินทุกชนิดที่อุดมสมบูรณ์ แต่ต้องปรับพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วมขัง ต้นมะขามทนแล้ง ทนอากาศร้อนได้ ต้องการน้ำปานกลาง ปัจจุบันนิยมขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง หรือวิธีเสียบยอด เพราะต้องการได้รากแก้วจากต้นตอที่เพาะด้วยเมล็ด โดยมะขามจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3-4 หลังการปลูกมะขามหวาน จะผลัดใบและแตกใบใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จากนั้นจะเริ่มพัฒนาดอกเรื่อยไปจนถึงขั้นดอกบาน และเริ่มมีฝักอ่อนในเดือนมิถุนายน ส่วนช่วงเวลาเก็บเกี่ยวนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมาก แบ่งออกเป็นพันธุ์เบา ได้แก่ พันธุ์ประกายทอง ศรีชมพู และ เพชรซับเปิบ ซึ่งให้ผลผลิตก่อนพันธุ์อื่นๆ มีช่วงเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม ส่วนพันธุ์กลาง ได้แก่ พันธุ์ขันตี พันธุ์อินทผลัม จะให้ผลผลิตช้ากว่าพันธุ์เบา 2 สัปดาห์ และพันธุ์หนักได้แก่ พันธุ์สีทอง พันธุ์หมื่นจง เก็บเกี่ยวช้าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ มะขามหวาน ให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ถ้าเกษตรกรไม่เก็บผลผลิตขายเอง ก็จะขายให้พ่อค้าที่รับซื้อนำไปเก็บไว้ในห้องเย็น เพื่อรอการแปรรูป และส่งออกไปต่างประเทศเช่น สหรัฐ ยุโรป และจีน
สรุปได้ว่าการปลูกมะขามหวาน นอกเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ยังมีอนาคตที่ดี เพราะผลผลิตยังเป็นที่ต้องการอีกมาก และยังเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นได้นาน รวมไปถึงมะขามหวานมีช่องทางในการแปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่นได้อีกมากมาย ทั้งขนมทานเล่น เป็นของฝาก เช่น มะขามไร้เมล็ด มะขามแซบพริกเกลือขิง มะขามคลุกไร้เมล็ด มะขามหยี่รสบ๊วย ไวน์มะขาม เป็นต้น และในอนาคตยังจะมีการนำ สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของต้นมะขามหวาน มาเป็นส่วนผสมของยา อาหารเสริม และเครื่องสำอางอีกหลายชนิดอีกด้วย