ผักชี เป็นพืชผักสวนครัวที่มีความผูกพันกับคนไทยเรามานาน เป็นพืชผักที่เรานำทุกส่วนมาประกอบอาหาร ทั้ง ลำต้น ราก และใบ นำใบตกแต่งอาหารและรับประทานเป็นเครื่องเคียงในหลายเมนู และยังใช้เป็นยาสมุนไพรและนำมาสกัดเป็นนำมันหอมระเหย ส่วนของเมล็ดผักชีใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสและกลิ่นอาหารให้มีความหอมและเผ็ดร้อน
การนำผักชีมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้นไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเราเท่านั้น ในตำราแพทย์พื้นบ้านของหลายประเทศก็มักจะนำใบและผลของผักชีมาใช้ในการรักษาโรค เช่น ในอิหร่าน นำใบอ่อนมาคั้นน้ำดื่มช่วยกระตุ้นให้หลับลึก และผลนำมากระตุ้นการอยากอาหาร ประเทศอินเดียใช้ผลรักษาโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร โรคในข้อต่อ ระงับอาการอักเสบ ลดอาการแน่นท้อง คลายเส้น และประเทศเยอรมันและตุรกีใช้ใบและผลผักชีเพื่อกระตุ้นการย่อยอาหารในกระเพาะ เป็นต้น ถือว่าได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางเลยครับ
การที่เราจะปลูกผักชีนั้น หากจะปลูกในกระถางหรือปลูกเป็นผักสวนครัวก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่นำเมล็ดพันธุ์มาทุบให้แตกเป็นสองส่วนแล้วไปแช่น้ำให้ฉ่ำราวๆ 3 ชั่วโมง ตากให้แห้งแล้วคลุกกับทรายไว้ เริ่มงอกเมื่อไรก็นำลงกระถาง รดน้ำสม่ำเสมอ 4-6 สัปดาห์ก็เก็บรับประทานได้แล้วครับ แต่หากคิดจะปลูกเพื่อขายต้องวางแผนเรื่องตลาดรองรับผลผลิตไว้ก่อนเนิ่นๆ หากมีแหล่งรับซื้อพืชผลแล้ว ก็ต้องมีแหล่งน้ำและแรงงานเพียงพอ หากพร้อมก็ลงมือกันต่อได้เลยครับ
การเตรียมดินให้ไถดินลึก 20 ซม. เพื่อพลิกดินขึ้นมาตากฆ่าเชื้อทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วผสมปุ๋ยคอกให้เข้ากันก่อนทำแปลง ส่วนการปลูกนิยมใช้การหว่าน โดยต้องนำเมล็ดไปคลุกยากันเชื้อราก่อน เพื่อให้มีอัตราการงอกสูง ผักชีต้องการแสงแดดรำไร จึงต้องมีการบังแสงแดดด้วยสแลน หรืออาจใช้ร่มเงาของไม้ยืนต้นช่วยพรางแสงได้ ส่วนของการดูแลรักษานั้น ต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำขัง และต้องหมั่นถอนวัชพืชออกจากแปลงเสมอ
ผักชีมักขาดตลาดในช่วงฤดูฝน เพราะไม่สามารถทนทานต่อความแรงของเมล็ดฝน ทำให้ผักช้ำและเน่าตายได้ อีกทั้งปริมาณน้ำที่มากจากฤดูกาลจะทำให้ผักชีเกิดเป็นโรครากเน่าด้วย ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก ทำให้ไม่ผลผลิตออกสู่ตลาด หากเพื่อนๆ เกษตรกรสามารถระบายน้ำในแปลงได้ดี และมีวิธีการป้องกันแรงกระแทกจากฝนได้ จะทำให้ผลผลิตที่ได้ในช่วงนั้นมีราคาสูงมาก เพราะตลาดไหนๆ ก็กางแขนรับเลยล่ะครับ